เปิดไฮไลท์ หลักสูตร LFC 13 เพราะเรารู้ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องสร้าง ‘ผู้นำ’
จะเปลี่ยนอะไรให้สำเร็จได้ ต้องมีผู้ที่ลุกขึ้นมานำ คุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะนำทัพขับเคลื่อนจนเป้าหมายลุล่วงได้ เขาเหล่านั้นต้องสามารถ “นำทาง” จนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และต้องเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง ถึงจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมโดยรวม
หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change – LFC) ของมูลนิธิสัมมาชีพ หลักสูตรที่สร้างผู้นำออกมาสู่สังคมกว่าสิบปี จึงบรรจงออกแบบเนื้อหาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น LFC ที่กำลังเปิดรับรุ่นใหม่รุ่นที่ 13 และกำลังจะสตาร์ทในเดือนสิงหาคมนี้ ยังมุ่งหวังให้ผู้นำเหล่านั้นได้ไปปฏิบัติการ ลงมือทำจริง กับภารกิจร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้าน “พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง” หรือ “ยกระดับ” ศักยภาพผู้ประกอบการชุมชน
เพราะจากผลกระทบของวิกฤติต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดโควิด และสงคราม ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตลอดจนเอสเอ็มอียังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดี ผู้เข้าอบรม LFC13 จึงมีโอกาสที่จะนำความรู้ไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับชุมชนและองค์กรที่สนับสนุน
ทำให้ได้ประสบการณ์จริงการขับเคลื่อนงานด้านสังคม และส่งผลดีต่อพื้นที่หรือกิจการของวิสาหกิจชุมชนต่างๆ
“หลักสูตรนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้เข้าอบรมหลักสูตรจะเป็นตัวแทนจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เน้นนำทฤษฎีแลกเปลี่ยนความรู้ สู่การลงพื้นที่ปฏิบัติ หลักสูตรนี้ไม่ได้เป็นการสร้างผู้นำอย่างเดียว แต่ผู้นำต้องนำการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ถือเป็นจุดเด่นของหลักสูตรเลย
เราต้องการสร้างผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงทั่วแผ่นดินไทย จากระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด มาถึงระดับประเทศ” วิเชฐ ตันติวานิช ประธานคณะกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง กล่าว
พร้อมกับบอกว่า หากผู้เรียนซึ่งอาจจะมีตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปจนถึงข้าราชการระดับสูง หากสามารถสร้างความเป็นผู้นำในตัวเอง และนำไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่ดูแลได้ นั่นคือ สิ่งที่จะสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ
“อันนี้คือสิ่งที่เราคาดหวังจากการเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้” วิเชฐ กล่าว
สาระในหลักสูตร ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 นี้ จึงประกอบด้วย 10 Module ที่อัดแน่นๆ พร้อมความหลากหลายครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างเรื่อง BCG Economy Model วาระที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังบ่ายหน้าสู่ทิศทางดังกล่าว เรื่องของเทคโนโลยี ดิจิทัล ที่จะสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน ได้ก้าวสู่เวทีอินเตอร์ รวมถึงประเด็นการสร้างความเป็นผู้นำ การทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลง หลักคิดสัมมาชีพ ที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษในหลักสูตรนี้
ในส่วนของผู้บรรยาย ก็จะพรั่งพร้อมตั้งแต่กูรูระดับผู้นำประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากสาขา ทั้งภาครัฐ เอกชน ซีอีโอองค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึงตัวแทนจากชุมชน เอสเอ็มอี ที่จะมาเป็นกรณีศึกษา เคสเด็ดๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจให้รอบด้าน
นอกจากนี้ยังมีการทำโครงการ แผนงานพัฒนายามลงพื้นที่ ภายใต้ทีมที่ปรึกษาจากคณาจารย์สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
กระทั่งกิจกรรมสานสัมพันธ์ จะมีทั้งแคมป์ มีเวที LFC Talks ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสบอกเล่า เรื่องราวของความท้าทาย ความสำเร็จ ตลอดจนไอเดียดีๆ มาแบ่งปันกัน ความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กันและกันจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาว LFC 13 ได้ส่งต่อไปยังผู้อื่นต่อไป
เริ่มที่ Module แรก “วิถีสัมมาชีพ” ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้จะได้ทำความเข้าใจกับวิถีความเป็นสัมมาชีพ เป็นประเด็นสำคัญของหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง หลักคิดด้านสัมมาชีพที่ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ ได้วางแนวทางไว้ ประกอบด้วย การประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม การมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ซึ่งการร่วมกันสร้างให้คนมีสัมมาชีพในทุกพื้นที่จะเป็นหนทางในการลดวิกฤติต่างๆ ในสังคม นำสู่ความรุ่งเรือง ร่มเย็น ของประเทศได้
โครงการ Leadership for Change รุ่นที่ 13 ก็จะส่งต่อแนวคิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางดังกล่าว
ตัวอย่างวิทยากรผู้รู้ในประเด็นนี้ ก็เช่น “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมสัมมาชีพ” มงคล ลีลาธรรม ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ ปาฐกถาพิเศษ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้วยวิถีสัมมาชีพ” วิเชฐ ตันติวานิช ประธานคณะกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Leadership for Change”และ “เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” รองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ ปาฐกถาพิเศษ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เพื่อย้ำให้เห็นว่า หากเราผนึกพลังจากสามฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม แล้ว แม้ภูเขาก็สามารถเขยื้อนได้
ตามด้วยการเสวนา “โชว์เคสต้นแบบสัมมาชีพ” โดยต้นแบบสัมมาชีพซึ่งเป็นตัวแทนจากชุมชนด้านต่างๆ จะมาบอกเล่าถึงแนวทางสร้างสัมมาชีพของตน ไม่ว่าจะเป็น “ชูศิลป์ สารรัตนะ” ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จ. น่าน ผู้สร้างตำนานสินค้าสมุนไพรจากท้องถิ่นขึ้นห้าง จนแบรนด์อินเตอร์ยังต้องสั่งจากที่นี่ “นาวาตรีสถาพร สกลทัศน์” แห่ง บริษัท ฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ผู้ทุ่มเทให้งานด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของชุมชนควบคู่กัน ผ่านโครงการร้านมาลากาแฟ เป็นต้น
ในช่วงนี้จะวิเคราะห์เจาะลึก โดยพิธีกรรายการโทรทัศน์มืออาชีพซึ่งเชี่ยวชาญด้านชุมชน นั่นคือ ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที แห่งช่องนิวส์วัน
โมดูลแรก ยังมีไฮไลท์อีกเช่น Leader Talks จากบุคคลระดับผู้นำของประเทศ กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง LFC ซึ่งงานนี้อบอุ่นแน่นอน และยังมี ดร. นัชชา เทียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชา ผู้ประกอบการทางสังคมยุคดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โค้ชจิตอาสาเพื่อผู้ประกอบการทางสังคม มาเป็นวิทยากรกระบวนการกิจกรรมสานสัมพันธ์ LFC13 อีกด้วย
เข้าสู่ Module 2 แก่นและคีย์เวิร์ดของหลักสูตรก็ว่าได้ กับประเด็น Leadership for Social Change ครั้งนี้ ผู้เข้าอบรมจะได้เกาะติดแบบริงไซด์กับซีอีโอองค์กรชั้นนำของประเทศอย่าง ปตท. และออมสิน ที่จะนำบทเรียน ประสบการณ์ขององค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนงานภาคสังคม รวมถึงเรื่องของ BCG ที่ดำเนินอยู่ให้ได้เรียนรู้กัน โดย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. จะบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ถอดบทเรียน ปตท.ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” ส่วน วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จะบรรยายในหัวข้อ “Social Mission Integration : ออมสินเพื่อสังคม”
การเป็นผู้นำ ย่อมหมายถึงการเผชิญกับความยาก ความท้าทายต่างๆ จะทำภารกิจหินๆ ให้สำเร็จ ไม่มีบาดแผลเหวอะหวะได้อย่างไร ดังนั้นในคอร์สนี้ “พอใจ พุกกะคุปต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Performance Pulse จำกัด ผู้ที่มีประสบการณ์โค้ชผู้บริหารองค์กรต่างๆ มายาวนาน จะมาเป็นโค้ชติวเข้มให้กับเหล่านักสร้างความเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 13 ผ่านหัวข้อ “Leadership for Social Change: Winning Challenges” อีกด้วย
Module 3 กับหัวข้อ Go Digital-Go Global Market ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้กับวิทยากรที่เชี่ยวชาญทั้งด้านการส่งออก และด้านดิจิทัล คอมเมิร์ซ กติกาโลกที่วิสาหกิจชุมชนต้องรู้และปรับให้ทัน เพื่อสร้างโอกาสสู่ความสำเร็จในโลกการค้าสมัยใหม่ พร้อมเคสตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากชุมชน หรือเอสเอ็มอี ที่สามารถนำธุรกิจเกาะติดกระแสจนเติบโตได้
ตัวอย่างวิทยากรก็เช่น “อุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด กูรูการตลาดออนไลน์ซึ่งทำด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งกว่า 15 ปี เป็นทั้ง Google Partner และ Facebook Certified Training Partner จะนำความรู้ด้านดิจิทัลให้ประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจ เอสเอ็มอี หรือธุรกิจใดๆ
ใน Module 4 เนื้อหาจะว่าด้วยการเตรียมพร้อมสู่ปฎิบัติการในพื้นที่ โดย”ดร. นัชชา เทียมพิทักษ์” หัวหน้าสาขาวิชา ผู้ประกอบการทางสังคมยุคดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จะให้ความรู้ในการทำแผนพัฒนาธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้เข้าอบรม ชุมชน ตลอดจนองค์กรภาคีในหัวข้อ “Participative Project Management” ขณะที่ “ปรารถนา หาญเมธี” ผู้บริหารจากกลุ่ม RLG Group หรือรักลูก กรุ๊ป จำกัด จะเติมมุมคิดเรื่อง “Mindset วิถีทำงานชุมชน” เพื่อการทำงานที่ครบเครื่อง
Module 5 จึงว่าด้วยการลงพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นการวางแผนพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมที่แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ กับชุมชนและองค์กรผู้สนับสนุน ซึ่งแผนดังกล่าวนั้น จะมีตั้งแต่การยกระดับคุณภาพสินค้า การแปรรูป การออกแบบดีไซน์ การเพิ่มเติมเทคโนโลยี ดิจิทัล หรือการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งหลังลงพื้นที่แล้ว ยังจะมีการทำงานต่อเนื่อง และมีระบบรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมผ่าน Zoom เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน
อีก Module ที่น่าสนใจคือ Module 6 ว่าด้วยประเด็น BCG Model : สานพลังสู่เศรษฐกิจชุมชน ประเด็นนี้จะหยิบยกผู้ที่นำแนวทางของ BCG มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาควิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี มาให้ความรู้เอง อย่างเช่น “สมุนไพรการแพทย์ : BCG จากฐานราก” โดย “อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนผลิตและพัฒนาสมุนไพรการแพทย์ การเสวนา “BCG to Go : เปลี่ยน-ปรับ รับเทรนด์ธุรกิจ ยั่งยืน” ที่จะมีตัวอย่างขององค์กรต่างๆ แม้กระทั่งวิสาหกิจชุมชน ที่ปรับธุรกิจให้สอดรับกับโอกาสใหม่จาก BCG เช่น “ฑิฆัมพร กองสอน” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่จะมาเล่าประสบการณ์ โดยมี “ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที” ดำเนินรายการ
ก้าวสู่ Module 7 เป็นช่วงที่ผู้เข้าอบรมจะได้นำเสนอไอเดีย โชว์ความสามารถกับแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ต่อเพื่อนร่วมชั้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ หลังจากนั้นจึงแยกย้ายไปปฏิบัติการ ก่อนจะมารายงานความคืบหน้าการพัฒนาโครงการใน Module 8 ซึ่งครั้งนี้จะมีปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลังพลเมืองสร้างความเปลี่ยนแปลง” อีกด้วย
และหลังจากคร่ำเคร่งกับกิจกรรมต่างๆ Module 9 ก็จะพาทุกคนเข้าแคมป์ กระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานกันและกัน เพื่อจะได้นำความรู้กลับไปใช้และขยายผลต่อ
ปิดหลักสูตร ด้วย Module 10 ด้วยพิธีส่งมอบผลงานสู่พื้นที่ สรุปผลการดำเนินงานร่วมกับพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยทั้งผู้เข้าอบรมและองค์กรภาคี ผู้สนับสนุน จะส่งมอบผลงานต่อชุมชน พร้อมการสนทนาสบายๆ กับ “เรื่องเล่าน้องพี่สัมมาชีพ” และส่งท้ายด้วยการเลี้ยงอำลา รวมรุ่นระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง LFC รุ่นต่างๆ อีกครั้ง
เหล่านี้ คือ ไฮไลท์ สำหรับหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 ที่ผู้เรียนจะได้ทั้งองค์ความรู้สู่การเป็นผู้นำ ได้ทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และได้เครือข่ายความสัมพันธ์ หลักสูตรนี้ที่จะมีขึ้นในช่วงวันศุกร์ – เสาร์ ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป สนนราคาอัตราค่าลงทะเบียนบุคคลทั่วไป 40,000 บาท, องค์กรภาคี และสมาชิกเครือข่ายผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง แนะนำ 30,000 บาท
สอบถามรายละเอียดที่ เกียววะลี มีสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายขับเคลื่อนโครงการผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ โทรศัพท์ 090-262-3653ณัฐณิชา เสมือนโพธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขับเคลื่อนโครงการผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ โทรศัพท์ 094-043-0163 E-mail: [email protected]
ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ