รวมพล 36 ปี ธรรมศาสตร์ รังสิต แตกหน่อ ต่อยอด ยั่งยืน สู่ 88 Sandbox SDGs agenda 2030
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ จัดงาน “รวมพล 36 ปี ธรรมศาสตร์ รังสิต” ฉลองการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ครบรอบ 36 ปี ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วยฯ 100 ปี มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ รังสิต ตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย พร้อมสืบสาน โดยเหล่าคณาจารย์ ศิษย์เก่า คนดังจากทุกวงการ ตบเท้าเข้าร่วมงานกันคึกคัก ท่ามกลางกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การเสวนา “36 ปี ธรรมศาสตร์ รังสิต : แตกหน่อ ต่อยอด ยั่งยืน สู่ 88 Sandbox : SDGs agenda 2030” กับเจตนารมณ์ของเหล่าผู้บริหาร และทิศทางการพัฒนาธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ ’36 ปี ธรรมศาสตร์ รังสิต’ พร้อมการเสวนา (Talk Session) หลากหลายเรื่องราวความรู้จากกรูรูชั้นนำซึ่งเป็นศิษย์เก่ามากมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Transfroming World for Sustainable Development” โดย รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมุมมองการพัฒนาองค์กรให้สอดคล้องกับ SDGs จากภาคธุรกิจระดับประเทศ เช่น SCGP, OR, Thaibev และ บ้านปู เป็นต้น ที่เชิญชวนให้ทุกคนภายในงาน ร่วมรับฟังเจตนารมณ์ สะท้อนภาพจำและทิศทางการพัฒนาธรรมศาสตร์ให้ก้าวหน้าต่อไป พร้อมเสวนาเรื่องอาชีพในฝัน เวทีแสง สี เสียง “ป๋วย-ปรีดี คนดีที่ไม่หาประโยชน์ใส่ตน” รวมถึงการแสดงดนตรี การออกร้านขายของ และ 88 Social Innovation Showcase โดย Startup ที่เติบโตมาจากโครงการ 88 Sandbox Ecosystem สตาร์ทอัพที่ปั้นธุรกิจของคนรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเป็นเรื่องของคนรุ่นก่อน ต้องขอขอบคุณในความแน่วแน่ที่ผลักดันให้เป็นจริงได้ ตลอด 36 ปีที่ผ่านมาได้เห็นการเติบโต พัฒนาการก้าวหน้าไปมาก ธรรมศาสตร์รังสิตพิสูจน์ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้เปลี่ยนสิ่งที่ยึดเหนี่ยวของมหาวิทยาลัย เราไม่ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ หรือแนวคิดของมหาวิทยาลัย ในยุคที่มีมหาวิทยาลัยมากมาย มีนักศึกษาใหม่ๆ เยอะแยะ ธรรมศาสตร์ยังคงสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ การมีอุดมการณ์เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยมารับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา เราพยายามสร้างธรรมศาสตร์ที่มีความหลากหลาย ให้ตอบโจทย์สังคมไทยในเรื่องที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม ไปช่วยผลักดันให้สังคมดีขึ้น เราไม่ได้มีความเป็นสังคมศึกษาเท่านั้น แต่วันนี้เรามี วิศวะ มีวิทยาศาสตร์ มีหมอ มีพยาบาล มีทุกสาขาอาชีพ ที่พร้อมไปทำให้สังคมไทยดีขึ้น ตามศักยภาพที่พวกเรามี “36 ปีของธรรมศาสตร์ที่เริ่มต้นกัน เมื่อ 40-50 ปีก่อนหน้านั้น เป็น 36 ปีที่มีคุณค่า มีความหมายทั้งต่อมหาวิทยาลัยและต่อนักศึกษา ที่เขาได้เปิดกว้างและเห็นสังคมมากขึ้น แล้วก็ทำให้เราได้เห็นสังคมที่มันกว้างขวางหลากหลายขึ้นด้วย ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการทำให้มหาวิทยาลัยสามารถตอบโจทย์เมื่อครั้งก่อตั้ง ที่มุ่งจะเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ขณะที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดการจัดงาน “แตกหน่อ ต่อยอด ยั่งยืน” ว่า เป็นการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผ่านพื้นที่กิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ พร้อมสอดแทรกกิจกรรมในเชิงพัฒนาด้านนวัตกรรม ธุรกิจ สุขภาพ และด้านอื่น ๆ ร่วมกันกับนักศึกษาปัจจุบัน
“ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่รุ่นพี่ รุ่นน้อง กลับมาช่วยมหาวิทยาลัยเยอะมาก หลายกิจกรรมก่อเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เกิด Startup ใหม่ๆ ที่ทำให้ธรรมศาสตร์ได้ต่อยอด การเรียนการสอนทำให้เด็กต้องคิดเองด้วย รู้จักค้นคว้าแสวงหา Role Model ต่างๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน บทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับจากนี้ จะยังคงเน้นเรื่องของมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่เฉพาะการเรียนการสอนการบรรยายในห้องเรียนหรือว่าในเวทีโลกเท่านั้น เราจึงคิดว่าสิ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญคือบทบาทของตัวนักศึกษาเองที่ต้องพัฒนาเรียนรู้ด้วยตนเอง และพยายามที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพ เป็นที่พึ่งพาของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาของมหาวิทยาลัยตลอดเวลาที่ผ่านมา”
รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาธรรมศาสตร์ไปสู่ความยั่งยืน โดยกล่าวว่า “ธรรมศาสตร์ในก้าวต่อไป จะไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานศึกษาเท่านั้น แต่จะกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ในทุกมิติ ในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพและเกิดความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือนักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนได้เปิดใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สามารถสร้างสรรค์และพัฒนาองค์ความรู้ที่ช่วยเหลือผู้คนและสังคมได้เป็นอย่างดี เช่น โครงการ 88 Sandbox ที่เปรียบเสมือนบ้านในการบ่มเพาะเหล่าสตาร์ทอัพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำจนสามารถต่อยอดธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้” โดยมีตัวอย่างสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตและประสบความสำเร็จมาแล้ว ได้แก่ Dr.Asa หรือหมออาสา แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพคนเบื้องต้น ‘Primary Care Platform’ ที่มุ่งหมายจะช่วยลดปริมาณ ผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาล งบประมาณด้านสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และ One Charge แพลตฟอร์มเชื่อมต่อผู้ให้บริการสถานีชาร์จ และผู้ใช้รถยนต์ EV ให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในงานรวมพล 36 ปี ธรรมศาสตร์รังสิต ยังได้รวบรวมศิษย์เก่ามาร่วมพูดคุยในเวที Career Connection เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบในการก้าวไปสู่อาชีพที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ใฝ่ฝัน โดยได้รับเกียรติจากศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมากมาย ได้แก่ นายธีรัช ลิมปยารยะ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ศิษย์เก่าจากคณะนิติศาสตร์ รุ่น 2540 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองประธานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ศิษย์เก่าจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศิษย์เก่าจากคณะรัฐศาสตร์ และนายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ศิษย์เก่าจากคณะรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ นายวิรัช บำรุงพนิชถาวร ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่น 2529 ซึ่งเป็นรุ่นแรกของการมาเรียนที่ศูนย์รังสิต และเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการจัดงานครั้งนี้ได้เล่าย้อนเมื่อครั้งมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตว่า มาเรียนที่ศูนย์รังสิต ในปี พ.ศ.2529 ตอนนั้นที่นี่มีตึกเรียนเพียง 2 ตึก และเป็นปีแรกที่ธรรมศาสตร์เริ่มเปิดให้มีการเรียนการสอนคณะวิทยาศาสตร์ จากเดิมที่จะเน้นสอนในส่วนของสังคมศาสตร์เป็นหลัก “การมาเรียนที่ศูนย์รังสิตนับเป็นความแปลกใหม่ เราเริ่มต้นกันแบบเงียบๆ บรรยากาศของที่นี่ในตอนนั้นต้องบอกว่าแทบไม่มีอะไรเลย โทรศัพท์สาธารณะทั้งมหาวิทยาลัยมีเพียง 3 เครื่อง พอเรียนเสร็จก็ต้องมาเข้าคิวรอโทรศัพท์กลับบ้าน เพราะตอนนั้นยังเด็กกันมากต้องห่างบ้าน ก็จำเป็นต้องโทรศัพท์รายงานตัวกับพ่อแม่ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ธรรมศาสตร์เปลี่ยนไปเยอะมาก การมาร่วมงานครั้งนี้ เพราะได้รับคำชวนจากรุ่นพี่ให้มาช่วยสร้างเน็ตเวิร์คกับน้องรุ่นปัจจุบัน ผมก็พยายามรวบรวมน้องๆ ปี 30 และ 31 สร้างโครงข่ายเพื่อจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเอารุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จมาพูดคุยซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะการศึกษาเรียนรู้ในตำราอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ผมมองว่านี่คือการแตกหน่อ และต่อยอด อีกทั้งต้องชื่นชมศิษย์เก่าสัมพันธ์ ที่วางแนวทางเชื่อมต่อความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องอย่างยั่งยืน แรกๆ ก็คิดว่าจะเล็กๆ ปรากฎว่ากลายเป็นเน็ตเวิร์คที่ยิ่งใหญ่” นายวิรัช บำรุงพนิชถาวร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: เวิลล์ ไอเดีย