ม.มหิดล คิดค้นกระบวนการดัดแปลงพื้นผิวโลหะเสริม “ซิลเวอร์นาโน” ยับยั้งเชื้อโรค
ปัญหาการติดเชื้อในโรงพยาบาลของผู้ป่วยเป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้นๆ ของการครองเตียงในโรงพยาบาลนานขึ้นและส่งผลให้มีการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ทั้งโรงพยาบาลในประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก
โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อโรคต่อมาสู่ผู้ป่วย คือ การสะสมของเชื้อโรคบนอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา จริยาบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานนวัตกรรมกระบวนการดัดแปลงพื้นผิวโลหะเสริม”ซิลเวอร์นาโน” ยับยั้งเชื้อ “อีโคไล” และ “สแตปฟิโลคอคคัสออเรียส” ได้ด้วยตนเอง มีผลวิจัยเป็นที่ยอมรับจนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ และอนุสิทธิบัตร ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม(iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล
จากการค้นคว้าร่วมกับนักวิจัยในห้องปฏิบัติการหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมพื้นผิว (Center for Surface Science and Engineering – SSE) คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จนค้นพบนวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถเพิ่มคุณสมบัติการยับยั้งเชื้อ “อีโคไล” และ “สแตปฟิโลคอคคัสออเรียส” ในกระบวนการทำอโนไดซ์ (anodizing) ดัดแปลงพื้นผิวโลหะอลูมิเนียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยใส่อนุภาคซิลเวอร์นาโนซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโรคลงไปในขั้นตอนก่อนการปิดรูพรุนในชั้นฟิล์ม
จากการทดสอบประสิทธิภาพตามมาตรฐาน JIS Z 2801 พบว่า นวัตกรรมกระบวนการดัดแปลงพื้นผิวโลหะเสริม”ซิลเวอร์นาโน” ยับยั้งเชื้อโรคที่คิดค้นขึ้นดังกล่าว สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย “อีโคไล” และ “สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส” ได้ถึง 100%
รวมทั้งสามารถขัดถูและทนต่อสารเคมีได้ดีเยี่ยม โดยที่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อ นวัตกรรมนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ที่ “จุดสัมผัสร่วม” ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและบ่อยครั้งที่การทำความสะอาดอาจไม่ทั่วถึง อาทิ บริเวณแผ่นโลหะที่ติดอยู่บนบานประตูของโรงพยาบาล ลูกบิดกรอบประตู ฯลฯ
นอกจากนี้ ทางผู้วิจัยเตรียมผลิตเป็น “ถาดวางเครื่องมือแพทย์ยับยั้งเชื้อโรค” และต่อยอดให้มีคุณสมบัติที่สามารถยับยั้งเชื้อโรคที่พบบ่อยชนิดอื่นๆ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก รวมทั้งโรค COVID-19 ได้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวเป็นเพียงจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ หากนำไปใช้จริงจะต้องมีการทดสอบการแพ้ และยื่นขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน
ซึ่งนอกจากสามารถใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นภายในโรงพยาบาลแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้กับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมถึง”เคสโทรศัพท์มือถือ” ตลอดจนในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคได้ต่อไปอีกด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ซิลเวอร์นาโนจะมีคุณสมบัติที่ดีในการยับยั้งเชื้อโรค และมีการนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน แต่ยังพบข้อกังวลในเรื่องผลกระทบจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมาแม้จะมีการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าว แต่ยังพบให้ผลลัพธ์ได้ไม่เทียบเท่า จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่รอคอยนักวิทยาศาสตร์มาทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล