ม.มหิดลจัดทำนวัตกรรมคู่มือดูแลผู้สูงอายุ พิชิต “ภาวะผู้ดูแลเหนื่อยล้า”
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะกายภาพบำบัด จัดทำคู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) เพื่อการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ลด “ภาวะผู้ดูแลเหนื่อยล้า” ภายใต้ทุนสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน(International Organization for Migration – IOM) หนึ่งในหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ
อาจารย์ ดร.กภ.รัตนา เพชรสีทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชากายภาพบำบัดชุมชน และทีม คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์คู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC)ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดูแลผู้สูงอายุอย่างง่าย “พิชิตภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ” ในคู่มือดังกล่าวเพื่อการดูแลผู้ป่วยสูงอายุสำหรับ”ผู้ดูแล” ที่กำลังประสบปัญหา “หมดไฟ” หรือท้อถอย
เมื่อ “ผู้ดูแล” ถึงจุดที่ต้องมานั่งถามตัวเองว่าทำไปเพื่ออะไรหรือต้องทำอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ ด้วยความรู้สึกที่เหน็ดเหนื่อยไร้เรี่ยวแรง จนเกิดคำถามในใจว่า “การดูแลผู้สูงอายุเป็นภาระ” (caregiver burden) กำลังมาเยือน ซึ่งหากเกิดขึ้นกับ “ผู้ดูแล” ที่เป็นญาติใกล้ชิด อาจส่งผลลุกลามถึง “โดมิโนชีวิต” ที่จะพาผู้ป่วยสูงอายุล้มตามไปด้วย
ซึ่ง “ตัวช่วย” สำคัญที่จะมาคอยคั่นโดมิโนชีวิตไม่ให้ล้มทับตามกัน คือ การที่นักกายภาพบำบัดให้ข้อมูลการดูแลที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย คนในชุมชนคอยสนับสนุน หรือหา “ผู้ดูแลรอง” มาเพื่อ “คั่นเวลาวิกฤติ” จนกว่า “ผู้ดูแลหลัก” จะฟื้นคืนแรง ผ่านพ้นภาวะหมดไฟได้
โดย อาจารย์ ดร.กภ.รัตนา เพชรสีทอง ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่จริง และได้พบกับ “ผู้ดูแล” ซึ่งกำลังประสบภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟในการดูแลผู้ป่วยผู้เป็นมารดาสูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้แรงเป็นอย่างมากในการประคองเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยลำพังในแต่ละครั้ง เพราะขาดทักษะและอุปกรณ์ที่จำเป็น
ทีมกายภาพบำบัดชุมชนของคณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เข้าช่วยเหลือดูแลทางกายภาพบำบัด พร้อมทั้งให้คู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) แก่ “ผู้ดูแล” จน “ผู้ดูแล” ได้ทราบถึงวิธีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ปลอดภัย วิธีการจัดท่าในการทำกิจวัตรประจำวันที่ถูกต้อง รวมทั้งวิธีอื่นๆ ที่จำเป็น
ตลอดจนยังได้ประสานให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สลับให้การดูแล ช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสูงวัย เนื่องจาก อสม. ก็เคยผ่านการอบรมพัฒนาทักษะการดูแล และใช้คู่มือ CMC มาก่อน ถือเป็นเสมือนเพื่อนช่วยเพื่อนในชุมชน “ผู้ดูแล” ให้มีความมั่นใจ และกำลังใจที่ดีขึ้นเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนภายในชุมชน
ในช่วงแรก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำคู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) ในรูปแบบของหนังสือ พร้อม QR Code เชื่อมต่อคลิปวีดีโอสั้นแสดงการดูแลที่ง่ายต่อการเรียนรู้ และสามารถฝึกทำตามด้วยตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีเป้าหมายเพื่อการฝึกทักษะและอาชีพผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในบ้านผู้สูงอายุเพื่อมาทดแทนผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวและต้องออกไปทำงานนอกบ้าน
คู่มือได้ถูกจัดทำเป็น 2 ภาษา ได้แก่ คู่มือภาษาไทย ซึ่งผ่านการจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว และคู่มือภาษาพม่า ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล
และเนื่องจากคู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) ได้มีการขยายผลสู่วงกว้างเพื่อใช้แนะนำผู้ดูแลผู้สูงวัยทุกประชากรในประเทศไทยมหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะกายภาพบำบัด ได้วางแผนจัดทำเป็นภาษาอื่นๆ เช่น ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ทำงานในประเทศไทยต่อไปอีกด้วย
โดยมุ่งหวังให้สังคมได้ตระหนักว่า ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งที่สุด ไม่ได้มาจากการที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดจากบุคลากรทางการแพทย์แต่เพียงเท่านั้นยังต้องให้ความสำคัญต่อ “ผู้ดูแล” เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งทั้งทางกายและใจ ในการดูแลผู้ป่วยอย่างยั่งยืน”พิชิตภาวะเหนื่อยล้าส่งผลลุกลาม”
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพจากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล