มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมกับกลุ่มทรู และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ
มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมกับกลุ่มทรู และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศมอบรางวัลชนะเลิศให้กับ “ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” จากการประกวด ‘โครงการภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านมตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจำปี ๒๕๖๕’ รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (กลาง) รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และนางบุษดี เจียรวนนท์ (ที่ ๒ จากซ้าย) เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมด้วยนายแพทย์ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ (ที่ ๓ จากซ้าย) กรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ประธานโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม (ที่ ๓ จากขวา) และกลุ่มทรู โดย ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการศึกษา บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ซ้ายสุด) พร้อมกันนี้อาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง (ที่ ๒ จากขวา) นักวิชาการนิเทศศาสตร์ และคุณชนกวนันท์ รักชีพ (ขวาสุด) ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือก และแสดงความยินดีแก่ โครงการสุนันทาร่วมใจ ป้องกันภัยมะเร็งเต้านม ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ รับทุนการศึกษา พร้อมถ้วยเกียรติยศจากมูลนิธิฯ ในการประกวด ‘โครงภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏประจำปี ๒๕๖๕’ รวมมูลค่ารางวัลอื่นๆ ทั้งสิ้นกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการคัดเลือกจากการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละชมรม เป็นเกณฑ์การพิจารณาตัดสินครอบคลุมถึงประสิทธิภาพของการรณรงค์สื่อสารเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ความรู้หลักวิชาการที่ถูกต้อง ความคิดสร้างสรรค์ และความยั่งยืนของแผนงาน ตลอดจนจำนวนผลลัพธ์การใช้เครื่องมือ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลสำเร็จในการดำเนินโครงการ ประกอบด้วยเนื้อหาความรู้และการทดสอบผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) รวมถึงระบบบันทึกการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเอง (BSE Application) อย่างสม่ำเสมอ ณ ห้องออดิทอเรียม ทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท ๑๐๑
โครงการสุนันทาร่วมใจ ป้องกันภัยมะเร็งเต้านม ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
คว้ารางวัลชนะเลิศ รับทุนการศึกษา พร้อมถ้วยเกียรติยศจากมูลนิธิฯ ได้แก่ นายพรหมพิเชษฐ์
ชาญชัยสกุลวัตร์ (ซ้ายสุด) นางสาวอินทิรา วงษ์ประเสริฐ (กลาง) และนายภาณุวัฒน์ ศิริลพ (ขวาสุด) เล่าถึงแรงบันดาลใจในการจัดตั้งชมรมฯว่า “เพราะว่าพวกเราเป็นนักศึกษาพยาบาลที่มีความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมเบื้องต้นอยู่แล้ว จึงอยากสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน ได้เห็นเป็นรูปลักษณะที่ถูกต้องและเหมาะสม เลยร่วมกันจัดตั้งชมรมขึ้นมา ช่วยกันวางแผนในการดำเนินงานต่างๆ และบางคนอาจมองว่าพยาบาลจะอยู่ในกรอบของทฤษฎีมากๆ เราจึงต้องมีการสร้างเครือข่ายในหลายๆสาขา และได้นำความคิดเห็นมาปรับใช้ จึงทำให้ชมรมเรามีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการคัดเลือกในรอบแรกๆ เพราะได้นำในสิ่งที่คณะกรรมการการท่านแนะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับกิจกรรมของชมรมและหลังจากนี้เป้าหมายต่อไปคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาทั้งหมด 6 วิทยาเขต จะต้องมีชมรมถันยรักษ์ เพื่อเป็นกระบอกเสียง กระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมให้ถึงประชาชนอย่างต่อเนื่องครับ”
สำหรับผลรางวัลอื่นๆ มีดังนี้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ รับถ้วยเกียรติยศจากมูลนิธิฯ และทุนการศึกษา ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ รับถ้วยเกียรติยศจากมูลนิธิฯ และทุนการศึกษา ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ทั้งนี้ ‘โครงการภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจำปี ๒๕๖๕’ ผนึกกำลังและนำศักยภาพของนักศึกษา จัดตั้งชมรมถันยรักษ์ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการรณรงค์สื่อสารในเขตพื้นที่บริการ สร้างความตระหนักถึงภัยมะเร็งเต้านมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนทุนในการจัดตั้งชมรมฯ พร้อมด้วยอุปกรณ์และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏที่เข้าร่วมส่งโครงการจัดตั้งชมรมถันยรักษ์เข้าประกวด จำนวน ๒๖ แห่ง และได้เผยแพร่ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนได้มากกว่า ๒๐,๐๐๐ คน “มูลนิธิถันยรักษ์ เชื่อมั่นว่า “ชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ” ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยให้รอดพ้นจากภัยมะเร็งเต้านม ดังพระราชปณิธานสมเด็จย่าฯ สืบไป”
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเทปบันทึกภาพการประกวดรอบชิงชนะเลิศฯ ในวันเสาร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๓๐ น. ทางช่องทรูปลูกปัญญา ทรูวิชั่นส์ 37 และ HD 111 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐๒ – ๘๕๘ – ๖๒๗๙ หรือ www.thanyarak.or.th
ที่มา: ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์