เปิดหลักสูตร MEI อัพสกิลนักดนตรีสายพันธุ์ใหม่ สู่การเป็นนักบริหารอย่างมืออาชีพ
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดหลักสูตร MEI (Music Entrepreneurship and Innovation) หลักสูตรปริญญาตรีดนตรี ควบปริญญาโท สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรมใช้เวลาเรียน 4 ปีครึ่ง ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย สิ่งสำคัญเติมเต็มประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะสามารถดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าไปด้วยดีในอีกมิติหนึ่ง โดยจัดงานแถลงข่าวความร่วมมือ MOU เปิดหลักสูตร MEI ที่ ริเวอร์ ซิตี้ กรุงเทพฯ
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวว่า “เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนด้านดนตรี ได้เรียนรู้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ ออกแบบหลักสูตร เพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักดนตรี ได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจ ส่วนใหญ่คนที่เก่งทางดนตรีก็อยากจะเล่นดนตรีอย่างเดียว หากได้เติมทักษะความรู้ทางธุรกิจเป็นอาวุธติดตัวเพิ่มขึ้น จะสร้างโอกาส ให้กับคนที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ เติบโตได้อย่างถูกทางและแข็งแกร่ง สังเกตเห็นได้จากธุรกิจเพลงของเกาหลีที่ไปไกลระดับโลก นอกจากเจ้าของบริษัทจะเล่นดนตรีได้แล้ว ยังมีความรู้ในเชิงธุรกิจ เขาจึงรู้ว่าธุรกิจดนตรีจะไปในทิศทางใด”
การเปิดหลักสูตรร่วมครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของ 2 องค์กรที่มีมาตรฐานสูง โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับรางวัล Top 50 จากการจัดอันดับ QS World University Rankings by Subject 2022 ในขณะที่ วิทยาลัยการจัดการ เป็นสถาบัน การศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB (Association to Advance CollegiateSchools of Business) ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาด้านการจัดการบริหารธุรกิจทั่วโลกเพียง 5% ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ ทั้งนี้หลังจากเปิดหลักสูตร ผ่านไป 5 ปี คาดว่าผู้ที่จบหลักสูตร MEI จะมีความเข้าใจทั้งด้านดนตรี และนวัตกรรมทางธุรกิจ มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงพาณิชย์ ที่ไปด้วยกันกับศิลปะทางดนตรีได้ช่วยพัฒนาธุรกิจส่วนตัวให้มีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ด้วย
รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงแนวคิดหลักสูตร MEI ว่า “นักดนตรีมี Passion ในขณะที่วิทยาลัยการจัดการ มีในส่วนของการออกแบบ การวางแผน กระบวนการต่างๆ โดยมีหลักการคือ เรียนแล้วทำได้เลย จึงเติมเต็มในส่วนของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่มี Passion การที่จะเป็นนักดนตรีมืออาชีพ ถ้ามีทั้ง Passion และ Professional จะสามารถทำได้ทุกอย่างและไปได้ไกลมาก หลักสูตร MEI สอน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิชานวัตกรรมต่างๆ 2. การบริหารจัดการธุรกิจ 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ Start up ซึ่งมี Exim Bank เป็นพาร์ทเนอร์ มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักบริหาร “ตัวจริง” ในองค์กรระดับแนวหน้า การเรียนรู้การจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ (Business Creativity and Design Thinking) การปรับใช้ กลยุทธ์เชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม การบริหารจัดการ สามารถสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการ และนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล เสริมถึงเนื้อหาการเรียนการเรียนการสอนของหลักสูตรให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า “เป็นการเรียนดนตรีของปริญญาตรีควบคู่ปริญญาโท แนวทางที่วางไว้คือจะค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาของธุรกิจพื้นฐานในช่วงปี 1 เทอม 2 เกี่ยวกับเรื่องการจัดการ ทั้งการจัดการตัวเอง การจัดการภายนอก ภายใน และจะเข้มข้นขึ้นตอนปี 2 ปี 3 ในสาขา Entrepreneurship and Innovation เป็นเรื่องของศาสตร์การทำธุรกิจ การนำนวัตกรรมมาใช้ ช่วงปี 4 ใกล้จบจะมีการทำสารนิพนธ์เหมือนปริญญาโทที่มีองค์ประกอบในเรื่องของดนตรี ธุรกิจ รวมทั้งในส่วนที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งน่าจะเหมาะกับยุคปัจจุบันที่หลายคนอยากทำคอนเทนต์ หรือสร้างแพลตฟอร์มใหม่ด้านนวัตกรรม ทำ Market place นักดนตรี เป็น Social Enterprise ที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคม ด้วยการนำดนตรีมาเป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ ถือว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษา”
สำหรับ คุณสมบัติในการศึกษาต่อหลักสูตร MEI คือผู้ที่จบมัธยมปลายที่มีความสนใจด้านดนตรี และต้องการเรียนการจัดการด้านธุรกิจควบคู่ไปด้วย ต้องผ่านการออดิชันทั้งจากวิทยาลัยดุริยางศิลป์ และวิทยาลัยการจัดการ โดยตั้งเป้าเปิดรับครั้งแรกไม่เกิน 30 คน จุดเด่นของหลักสูตร เมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาตรีควบคู่ปริญญาโท ทำให้ประหยัดเวลาจากการเรียนตามปกติได้ถึง 1 ปีครึ่ง รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นโอกาสในการทดลองค้นหาตัวเองอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเปิดกว้างให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตได้ โดยผู้ที่สนใจสนใจ สมัครเรียนได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2565 ศึกษาข้อมูล หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่www.music.mahidol.ac.th
ที่มา: ไวสแบรนด์