ม.มหิดลคิดค้นเครื่องปั่นไฟ เสริมแรงพลังงานลมเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

ม.มหิดลคิดค้นเครื่องปั่นไฟ เสริมแรงพลังงานลมเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ และทรัพยากรบนโลกถูกทำลายลงเรื่อยๆ จนเหลือลดน้อยลงทุกที เพียงไม่ดูดายก็อาจต่อชีวิตพลิกฟื้นเศรษฐกิจชาติต่อไปได้

อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Research Center and Technology Development for Environmental Innovation – REi) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนวัตกรผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารูปแบบใหม่จากพลังงานลมเพื่อลดโลกร้อน ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ออกมาช่วยต่อชีวิตให้กับโลก

นวัตกรรมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่คิดค้นขึ้นดังกล่าว ใช้หลักการทำให้เกิดการหมุนสวนทางของชิ้นส่วนที่ทำให้เกิดเป็นกระแสไฟฟ้า เสริมการหมุนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้เป็น”พลังงานทดแทน” ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้เลย หรือใช้เป็น “พลังงานเสริม” โดยเก็บใส่แบตเตอรี่สำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น

อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ ได้ให้ข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าว่า ขึ้นอยู่กับแรงพลังงานลมที่จะเป็นต้นกำลังทำให้ใบพัดหมุนเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยหากเป็นพลังงานลมจากธรรมชาติอาจมีกำลังไม่มากและเสถียรเท่าลมเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม และเมื่อผนวกเข้าด้วยหลักการผลิตไฟฟ้าแบบหมุนสวนทางจะช่วยเสริมแรงพลังงานลมให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นได้ถึง 3 เท่า

โดยโครงการวิจัยฯ ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารจัดการด้านเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานสภาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอยู่ระหว่างการทำต้นแบบ (Prototype) เพื่อทดสอบเปรียบเทียบ ก่อนจะนำมาตกแต่งให้ดูน่าใช้

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ออกแบบนวัตกรรมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวให้สามารถใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากลม ซึ่งได้แก่ น้ำ ไอน้ำ หรือแม้กระทั่งเครื่องยนต์ที่จะมาทำให้สามารถผลิตพลังงานได้เพิ่มขึ้นโดยใช้แหล่งพลังงานที่เท่ากัน

เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเดิม เพียงลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 แต่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 2-3 เท่า นอกจากนี้หากต่อไปสามารถผลิตอุปกรณ์ทุกชิ้นขึ้นได้เอง จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้นไปอีก

และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่านวัตกรรมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่คิดค้นขึ้นนี้ จะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งจะนับเป็นความคุ้มค่าอย่างมากกับไฟฟ้าที่ได้ตลอดอายุการใช้งาน และราคาของอุปกรณ์จะยิ่งถูกลง เมื่อสามารถพัฒนาให้รองรับการใช้งานในปริมาณมากขึ้นต่อไปในอนาคต

โดยผู้วิจัยยังคงยืนยันที่จะทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืน เพื่อประชาชนคนไทยหายใจสบายไร้มลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ