ม.อ. – มฟล. ผนึกกำลัง 15 สถาบันอุดมศึกษา จัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ ร่วมขับเคลื่อน ‘วิชาการ งานวิจัย นวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ’ มุ่งยกระดับสู่นานาชาติ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ ม.แม่ฟ้าหลวง ผนึกกำลัง 15 สถาบันอุดมศึกษา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ (North-South University Network: NSU- Net) เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือทางการศึกษาภาคเหนือและภาคใต้สู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการ การวิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรม วางเป้าหมายยกระดับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติและความเป็นระดับสากล
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้นำเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคใต้ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะเป็นผู้นำเครือข่ายมหาวิทยาภาคเหนือ ร่วมกับ 15 สถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ (North-South University Network: NSU- Net) เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการภาคเหนือและภาคใต้สู่ความเป็นเลิศร่วมกันในระดับมหาวิทยาลัยและระดับภาควิชาหรือคณะต่างๆ เพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ the North-South University Network (NSU-Net) ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง 6 สถาบันอุดมศึกษากลุ่มภาคเหนือ ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ ม.พะเยา ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ม.ราชภัฏเชียงราย โดยมี ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นแม่ข่าย ส่วนสถาบันอุดมศึกษากลุ่มภาคใต้ประกอบด้วย 11 สถาบัน ได้แก่ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.ทักษิณ ม.วลัยลักษณ์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ม.ราชภัฏสงขลา ม.ราชภัฏยะลา ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ม.ราชภัฏภูเก็ต ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี โดยมี ม.สงขลานครินทร์ เป็นแม่ข่าย
ทั้งนี้ การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ ครั้งที่ 1 (The 1st NSU-Net Presidents’ Forum) ภายใต้หัวข้อ Sustainable Networking for a Better Future Together มีวาระการประชุมกลุ่มย่อยของคณะผู้บริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรในยุค Digital กลุ่มที่ 2 การพัฒนาการเรียนการสอนสมัยใหม่ร่วมกัน การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและทักษะของนักศึกษาในฐานะเป็นพลเมืองโลก การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยเครือข่ายผ่านโครงการ Visiting Scholars ในลักษณะ cost sharing การลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และการเทียบโอนผลการเรียนข้ามสถาบันภายในมหาวิทยาลัยเครือข่ายเหนือ-ใต้ และ Collaborative Online International Learning (COIL) Programme
กลุ่มที่ 3 ประเด็นเครือข่ายในต่างประเทศ (International Networking) เป็นการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การสร้างเครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเหนือใต้ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี (best practice) ระหว่าง IROs ของมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ และการจัด Virtual Mobility หรือ Virtual Camp ร่วมกัน
“ความร่วมมือการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ – ใต้ ที่มีอย่างต่อเนื่อง จะเป็นก้าวสำคัญระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาภาคเหนือและมหาวิทยาภาคใต้ เพื่อบูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการ การพัฒนางานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับประเทศไทย ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติยกระดับสู่ความเป็นสากลต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.นิวัติ กล่าว
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย