ม.มหิดล สร้างสรรค์แอปพลิเคชัน”Brain Track” เพื่อคนไทยห่างไกลภาวะสมองเสื่อม
“สมอง” เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถทดแทนได้โดยสมบูรณ์จำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่ให้เสื่อมก่อนวัยอันควร ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การดูแลสุขภาพด้วยตัวเองกลายเป็นเรื่องง่าย เพียงใช้แอปพลิเคชันในมือถือ จึงทำให้มีซอฟต์แวร์ทางการแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย
แม้จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ยังน่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย และการได้มาตรฐาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรภพ นัยเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้หนึ่งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาพยายามทำให้คนไทยได้มีสุขภาพดี ผ่านการออกแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสม และปลอดภัย โดยไม่มองข้ามเรื่องมาตรฐานที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าดีต่อสุขภาพของคนไทยอย่างแท้จริง
จากที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรภพ นัยเนตร ได้สร้างสรรค์และพัฒนาแอปพลิเคชัน “Brain Track” เพื่อให้ประชาชนคนไทยห่างไกลภาวะสมองเสื่อม โดยแอปพลิเคชัน”Brain Track” ได้ถูกออกแบบและพัฒนาให้สอดคล้องกับวิธีมาตรฐานการตรวจประเมินภาวะสมองเสื่อมทางการแพทย์ และกำลังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด ปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนเป็นข้อมูลลิขสิทธิ์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ในเบื้องต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรภพ นัยเนตร ได้ตั้งบริษัท IQMED Innovation จำกัด ซึ่งเป็น Start-Up จากห้องปฏิบัติการวิศวกรรมหัวใจ หลอดเลือด และอวัยวะประดิษฐ์ (CardioArt Lab) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชัน “Brain Track” ให้สามารถช่วยแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักของภาวะสมองเสื่อม
ผ่านการวิเคราะห์ถึงอุปสรรคสำคัญในการใช้ โดยครอบคลุมข้อจำกัดที่ทำให้ผู้สูงวัยไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องด้วยความซับซ้อน จึงได้ออกแบบแอปพลิเคชันให้มีการประเมินในรูปแบบของเกมที่เข้าใจง่าย อาทิ การนับด้วยลูกบอลเพื่อทดสอบทักษะในการคิดคำนวณ
นอกจากนี้ยังได้ออกแบบการทดสอบความจำ ผ่านรูปภาพ สีและแบบทดสอบที่ต้องใช้ทักษะการเชื่อมโยงทางความคิดฯลฯ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงวัยก่อนแพทย์ให้การรักษาได้อย่างตรงจุด และที่สำคัญสามารถกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการประเมินเกิดความสนใจ และติดตามการทดสอบไปจนจบ
ก้าวต่อไป “Brain Track” จะได้รับการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคนไทยเพื่อใช้ดูแลสุขภาพสมองด้วยตัวเองโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรภพ นัยเนตร ได้กล่าวฝากทิ้งท้ายให้ทุกคนตระหนักถึงปัจจัยสำคัญของการดำเนินชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน จากการรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลสุขภาวะตัวเองอย่างยั่งยืนต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
.
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล