โรงเรียนขนาดเล็ก ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด ใช้ชุมชนในพื้นที่เป็นเครือข่าย บริหารบนความขาดแคลน
ทางมูลนิธิเอเชีย ร่วมกับเหล่าพันธมิตร ได้ลงพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ณ โรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ซึ่งถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีชุมชนในพื้นที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ เผยทุกโรงเรียนต้องมีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ในขณะที่ล่าสุดภาครัฐได้อนุมัติมอบเงินช่วยเหลือ 3,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้นักเรียน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศได้รับอานิสงค์กว่า 36,600 แห่ง
ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย หัวหน้าจัดทำโครงการฯ ได้กล่าวว่า “รร.บ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ มีนักเรียนจำนวน 120 คน เปิดสอนในระดับอนุบาล-ป.6 เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ภาครัฐมีนโยบายควบรวม จึงต้องอาศัยชุมชนที่เข้มแข็งคอยสนับสนุนและขับเคลื่อนในด้านการศึกษา ปัจจุบันนอกจากให้หลักสูตรการศึกษาแกนกลางแล้ว ที่โรงเรียนยังมีการเสริมด้วยหลักสูตรทักษะอาชีพต่างๆ อาทิ การทำสบู่ การคิดวิเคราะห์โดยใช้จินตคณิต การเย็บผ้า เต้นบาสโลบ การร้องเพลง ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะพัฒนาทักษะของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ หรือเข้มแข็งก่อนจะเติบโตไปอยู่ในโรงเรียนอื่นๆ ในชุมชน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ โรงเรียนควรจะเน้นในเรื่องทักษะวิชาการ เพื่อให้นักเรียนสามารถไปเรียนต่อได้ ทุกวันนี้ความขาดแคลนในทุกสิ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าเราต้องการจะหลุดพ้นในเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง โรงเรียนจะต้องมีทรัพยากร, มีคุณครูสอนนักเรียนครบชั้นในทุกหลักสูตร เพื่อจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง และอยู่ในสังคมโลกได้
โดยล่าสุดเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อวันที่ 8 พ.ย.65 ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการพิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็กถึงชั้น ป.6 ของสถานศึกษาทุกสังกัด จำนวน 51,637 โรง จากปัจจุบันที่ได้รับในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราตามขนาดของโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ค่าใช้จ่ายและวัตถุดิบในการประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้น โดยการจัดอาหารให้กับนักเรียนในแต่ละมื้อต้องคำนึงถึงคุณค่าตามหลักโภชนาการ 5 หมู่ที่นักเรียนควรได้รับและในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันในครั้งนี้จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1)โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-40 คน จำนวน 16,691 แห่ง รวมนักเรียน 403,768 คน จะได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 15 บาท คิดเป็น 71.43% 2)โรงเรียนที่มีนักเรียน 41-100 คน 17,437 แห่ง รวมนักเรียน 1,126,246 คน ได้รับ 27 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 6 บาท คิดเป็น 28.57% 3)โรงเรียนที่มีนักเรียน 101-120 คน 1,970 แห่ง ได้รับ 24 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 3 บาท คิดเป็น 14.29% และ 4)โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป 15,539 แห่ง รวมนักเรียน 4,147,557 คน ได้รับค่าอาหารกลางวัน 22 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 1 บาท คิดเป็น 4.76% โดยการปรับเพิ่มค่าอาหารฯ ดังกล่าว จะเริ่มใช้ในการจัดทำแผนงบประมาณปี 2567 ใช้งบทั้งสิ้น 28,365,864,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นเงิน 3,533,280,000 บาท
ด้าน นางสุภาพร ลามะให ผู้อำนวยการ รร.บ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ จ.มหาสารคาม ได้กล่าวว่า “เราดูแลกันโดยใช้หลัก 3 ก้อนเส้าคือบ้านวัดโรงเรียน ในปัจจุบันมีครูต่างถิ่นและผู้บริหารที่เวียนเข้ามาบริหาร แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ก็คือชุมชน ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเป็นเครือข่ายในการบริหารบนความขาดแคลน สำหรับหลักสูตรการสอนมีทั้งในด้านวิชาการ, ทักษะชีวิตและอาชีพ มีการนำรุ่นพี่จากโรงเรียนอื่นมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเป็นการจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน ด้านคุณครูก็จัดให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาตนเอง ส่งเสริมในเรื่องการเรียนออนไลน์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการสอนให้มีคุณธรรม, มีความสุขในสิ่งที่มี และอย่ามองถึงแต่ความสมบูรณ์เพียบพร้อม เพราะความเก่งต้องดูที่ทักษะชีวิตและความสุขที่ได้รับด้วยค่ะ”
สำหรับโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จัดขึ้นโดยมูลนิธิเอเชีย โดยการสนับสนุนของสถานทูตออสเตรเลีย, มูลนิธิอานันทมหิดล และความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท., สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้น ฐาน(สพฐ.) และกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือเข้าชมจาก Youtube รายการหนึ่งในพระราชดำริ ตอนโรงเรียนดีมีทุกที่ พลังเครือข่าย พลังสร้างสุข ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 062-7341267
ที่มา: ไวสแบรนด์