ธรรมศาสตร์ยกย่องนักวิจัยมธ. 73 ราย 7 สาขา 57 รางวัล ตอกย้ำความก้าวหน้าทางวิชาการ
ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU RAC) จัดงาน ‘วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2565’ เพื่อมอบเหรียญรางวัลแก่อาจารย์และนักวิจัยทั้ง 73 ราย 7 สาขา 57 รางวัล เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวมทั้งเป็นขวัญและกำลังใจ ในการสร้างผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลก จนสามารถคว้ารางวัลได้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านวิชาการ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ รวมถึงสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมมาโดยตลอด จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมต่อไป ดังเช่นในขณะนี้ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนวิจัย หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงเงินประมาณ 150 ล้านบาท และกำลังจะมีการจัดตั้งกองทุน ศาสตรเมธาจารย์ วงเงินประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการร่วมกันกับอาจารย์ และนักวิจัยของธรรมศาสตร์ ผลิตงานวิจัย อันจะนำไปสู่การยกระดับงานวิจัยให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนวัตกรรมจำนวนมากที่ได้รับรางวัลในประเทศ และสร้างชื่อเสียงในระดับโลก เป็นการเน้นให้เห็นศักยภาพของบุคลากรธรรมศาสตร์ ที่มีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคม ผลงานวิจัยของทุกคนที่ได้รับรางวัลถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของธรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม (Social Impact) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สังคมมองเห็นทิศทางการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มธ. กล่าวว่า “ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามแผนงานและกิจกรรมด้านการวิจัยที่กำหนดไว้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น งานวิจัย งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม การเผยแพร่ตีพิมพ์ผลงาน การจดทะเบียนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ
ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี่ที่ในปีพ.ศ. 2565 นี้ มีบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากทั้งหน่วยงานภายนอกระดับชาติและระดับนานาชาติเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการสร้างงานวิจัยคุณภาพสูง รวมถึงการพร้อมส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ภายใต้โจทย์ที่ท้าทายในการเชื่อมโยงความรู้สหสาขาวิชา เพื่อนำไปสู่การก่อเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อสาธารณะอย่างแท้จริง”
ขณะที่ รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU RAC) กล่าวว่า ” ในปีนี้ TU RAC ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นผู้บริการวิจัยกว่า 372 โครงการ อีกทั้งยังมีนักวิจัยที่สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยหลายท่าน และได้รับรางวัลประเภทโครงการขนาดใหญ่ มูลค่า 20 ล้านบาท ขึ้นไป ถึง 10 รางวัล จึงถือเป็นอีกปีที่ TU RAC ประสบความสำเร็จในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคมต่อไปครับ”
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565” แบ่งออกเป็น 7 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 7 เหรียญ 2. ผู้ได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 4 เหรียญ 3. ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง จำนวน 2 เหรียญ 4. ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 19 เหรียญ 4 ผลงาน 5. ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 11 เหรียญ 6. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงาน จำนวน 12 เหรียญ และ 7. ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 21 เหรียญ 17 รางวัล
โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาสกร ศรีทิพย์สุโข เจ้าของรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากเรื่อง ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด – 19 ในประเทศไทย: การศึกษาในสถานการณ์จริง (COVID-19 Vaccine Effectiveness in Thailand: a Real World Study) กล่าวว่าผลงานที่ได้รับรางวัลว่า “ผลงานวิจัยนี้ถือเป็นงานท้าทาย และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัย พัฒนา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มีต่อวัคซีนที่ได้รับการคิดค้นมาเพื่อป้องกันโควิด”
สำหรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงานรับ 3 รางวัล คือ 1. The End of Compromise: Political Meanings of Thailand’s First National Day Celebrations on 24 June 1939, 2. โค่นยักษ์เพื่อสถานภาพ: Social Stigmatisation of Status Dissatisfaction กับกรณีศึกษาสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น 1904-05 และ 3. Feigned resignation as political strategy: cracking the mysterious case of Phibunsongkhram’s reversal of resignation in 1943 กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “ดีใจมากสำหรับรางวัลที่ได้รับ”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต ตัวแทน ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 (ระดับดีเด่น) ประเภทการขยายผลมาตรฐานการบริการ เรื่อง Al Chest 4All (DMS-TU) For Thai People กล่าวว่า “ดีใจและภูมิใจที่งานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง รางวัลนี้จะเป็นแรงบันดาลใจ สำคัญยิ่ง ให้มุ่งมั่นทำงานและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของสังคม และเป็นตัวอย่างต่อนิสิต นักศึกษาและนักวิจัยรุ่นต่อ ๆ มา อีกด้วย”
ที่มา: เวิลล์ ไอเดีย