KMITL Prince of Chumphon ปั้นหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ พร้อมโชว์ศักยภาพเดินหน้าขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยยุทธศาสตร์ PEARL
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือ KMITL Prince of Chumphon ผนึก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (กทม.) ตอกย้ำศักยภาพสถาบันการศึกษาชั้นนำ จัดเสวนาขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยยุทธศาสตร์ PEARL จุดประกายทุกโอกาสธุรกิจ ปั้นหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ ปลุกเศรษฐกิจด้ามขวาน เป็นส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.คำรณวิทย์ ทิพย์มณี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เปิดเผยว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจและสังคม เทคโนโลยี ในปัจจุบันทำให้สถาบันฯ ยังคงมุ่งมั่นถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ดี เพื่อให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิด การวางแผน การปฎิบัติ การวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ๆ สจล.ได้เปิดการเรียนการสอนภายใต้โครงการ KMITL ONE ” สจล.เป็นหนึ่งเดียว” โดยได้เปิดหลักสูตร ระดับปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ สจล. กทม. และสจล. วิทยาเขตชุมพร
โดยสจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้จัดงานเสวนา ในหัวข้อ New opportunity and challenge: Education drive for PEARL Strategy for Southern Economic Corridor หรือ KMITL กับ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยยุทธศาสตร์ PEARL ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ได้แก่ ท่านบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว P: Premium Service and Tourism ,ดร.วิชิต ประกายพรรณ ที่ปรึกษาและกรรมธิการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ในส่วนงานนวัตกรรม ด้านพลังงาน อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน E: Environment and Natural Resources Reservation, ท่านวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน A: Agro-base Industries and Organic Farmland,ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ. อุดม คชินทร อดีต รมช กระทรวงศึกษาธิการ Research, Innovation and Technology,ท่านวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรและท่านปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และดำเนินรายการ โดย คุณสุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี ผู้ประกาศข่าวช่อง NBT โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจและเห็นโอกาสทางธุรกิจจากบริบทการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. 2566-2570 (PEARL) โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่ในจุดพื้นที่ยุทธศาสตร์ จังหวัดสองพี่น้อง ชุมพร-ระนอง
“สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เชื่อว่ารากฐานที่แข็งแรงด้านการศึกษา การมีทักษะเฉพาะด้าน จะสามารถต่อยอดการดำรงชีวิตที่ดี และสร้างโอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิทัลได้ ซึ่งจะเป็นบันไดไปสู่การพัฒนาประเทศไทยในที่สุด ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดเสวนาหัวข้อ New opportunity and challenge: Education drive for PEARL Strategy for Southern Economic Corridor หรือ KMITL กับ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยยุทธศาสตร์ PEARL ครั้งนี้สามารถเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจจากบริบทการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. 2566-2570 (PEARL) โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่ในจุดพื้นที่ยุทธศาสตร์ จังหวัดสองพี่น้อง ชุมพร-ระนอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ ของสจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนนำองค์ความรู้มาใช้ประกอบการธุรกิจ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้” รศ.ดร.คำรณวิทย์ กล่าว
ด้านผศ.ดร.ชัญญาภัค หล้าแหล่ง ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ กล่าวว่า สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษา ควบคู่ไปกับงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ โดยจุดเด่นของหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจนั้น ต้องการสร้างนักบริหารระดับโลก (Stay local Think Global) มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ และการวิจัยทางธุรกิจที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ตอบโจทย์ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากนี้ มีแขนงวิชาที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้เรียนในพื้นที่ และสามารถพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาของอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ รวมถึงเน้นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการและเครือข่ายทางธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งภาคธุรกิจ ทั้งจากภาคธุรกิจเอกชน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง และสถานศึกษาในพื้นที่ อีกด้วย
“สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างนักบริหารระดับโลก เราจึงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นพลังการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาไปพร้อมกับโลกยุคใหม่” ผศ.ดร.ชัญญาภัค กล่าว
นายทนงศักดิ์ แข่งขัน ประธานนักศึกษาปริญญาเอก รุ่น 1 สาขาวิชาบริหารธุรกิจ กล่าวว่า หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ทางด้านวิชาการอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังช่วยผลักดันการสร้างนักบริหารรุ่นใหม่ที่ได้รับการยอมรับระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ ทำให้นักศึกษาเกิดความคิดในเชิงบูรณาการ อีกทั้ง คณะบริหารธุรกิจ สจล. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆ มากมาย มีศักยภาพความพร้อม อาทิ เครื่องมือการเรียนการสอนที่ทันสมัย ทั้งระบบออนไลน์และ ออฟไลน์ รองรับนักศึกษาได้จำนวนมาก
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย