จุฬาฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมพัฒนานวัตกรรม โครงการ dBreast แอปพลิเคชั่นสำหรับแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท แลนซิ่ง บิสสิเนส ซิสเต็มส์ จำกัด ในการร่วมพัฒนานวัตกรรม “โครงการ dBreast” แอปพลิเคชั่นสำหรับแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยมี อ.ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล หัวหน้าศูนย์ UTC รศ.ดร.นพ.โสภาคย์ มนัสนยกรณ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการ dBreast คุณนวรัตน์ รัตน์นราทร และคุณประพนธ์ ทุ่งสี่ กรรมการบริษัท แลนซิ่ง บิสสิเนส ซิสเต็มส์ จำกัด ร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม dBreast แอปพลิเคชั่นสำหรับแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 ณ สำนักงาน UTC โครงการ Block28 : creative & startup village
“โครงการ dBreast” เป็นการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น dBreast ที่รวบรวมฐานข้อมูลของผู้ป่วยและประวัติการรักษาอย่างละเอียดรวมไว้ในที่เดียวกัน จากสถิติข้อมูลในปี 2563 พบว่ามีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาแอปพลิเคชั่น dBreast จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์ผู้รักษาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ ทุกเวลาแบบเรียลไทม์ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์และศึกษาเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์สามารถนำแอปพลิเคชั่นนี้ติดตัวไปได้ทุกที่ ในกรณีผู้ป่วยเกิดเหตุฉุกเฉิน แพทย์จะสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ “โครงการ dBreast” ได้รับความช่วยเหลือด้านการให้คำแนะนำการทำแผนธุรกิจจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาฯ (UTC) ในอนาคตจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้สามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้างและสามารถประยุกต์เข้ากับการรักษาโรคอื่นๆ โดยร่วมมือกับบริษัท แลนซิ่ง บิสสิเนส ซิสเต็มส์ จำกัด ในการร่วมพัฒนาให้แอปพลิเคชั่น dBreast เป็นฐานข้อมูลที่ละเอียดและน่าเชื่อถือ พร้อมคาดการณ์แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนข้างหน้า เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนทางด้านสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย