ม.อ. ผนึกกำลังคณะแพทย์ 4 สถาบัน มุ่งยกระดับ ‘ธนาคารชีวภาพ’ ก้าวสู่ศูนย์กลางการทดสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะแพทยศาสตร์ เดินหน้าขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์คณะแพทย์ 4 สถาบันชั้นนำของประเทศไทย มุ่งยกระดับธนาคารชีวภาพ สู่ศูนย์กลางวิจัยและการทดสอบที่เป็นเลิศในด้านการรักษาโรค ชูเป็นแหล่งเชื่อมโยงงานวิจัยบูรณาการเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คลินิกและชีวสารสนเทศทางการแพทย์ สู่การใช้งานจริงอย่างครบวงจร เพื่อร่วมผลักดันธนาคารชีวภาพและเครือข่ายทั่วประเทศก้าวสู่เป็นศูนย์กลางการทดสอบมาตรฐานสากลในระดับประเทศและนานาชาติ
รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า คณะแพทย์ 4 สถาบัน ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วางวิสัยทัศน์ของธนาคารชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพจากผู้ป่วยสู่การเป็นแหล่งชีวทรัพยากรที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยเชิงลึก รวมทั้งเป็นคลังข้อมูลความรู้ทางชีวภาพที่สร้างความเข้าใจต่อโรคต่างๆ ตลอดจนนำไปสู่การศึกษาเชิงลึกถึงกลไกของโรค และต่อยอดถึงการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม และการรักษาผู้ป่วยแบบแม่นยำ (precision medicine)
ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เดินหน้าขับเคลื่อนธนาคารชีวภาพซึ่งเป็นคลังสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ จัดตั้งขึ้นในปี 2559 ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์วิจัยการแพทย์ปริวรรต กลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ ชั้น 4 อาคารวิจัยรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร สู่การยกระดับจัดเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและเลือดเพื่องานวิจัยอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางอณูชีววิทยา โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์แพทย์ทางคลินิกและนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงงานวิจัยบูรณาการเทคโนโลยีและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สุขภาพ คลินิก และชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ทางการแพทย์สู่การใช้งานจริงอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายผลักดันยกระดับธนาคารชีวภาพ สู่ความเป็นศูนย์กลางการทดสอบที่เป็นเลิศในด้านการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหายาก (Rare disease) และโรคทางพันธุกรรม (Genetic disorders) เป็นต้น ปัจจุบันมีการจัดเก็บชิ้นเนื้อมะเร็งหลากหลายชนิดในธนาคารชีวภาพมากกว่า 7,000 ตัวอย่าง ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งรังไข่ เป็นต้น โดยมีทีมอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 ราย และมีการนำตัวอย่างไปใช้เพื่อการวิจัยทางด้านการแพทย์แล้วหลากหลายโครงการ
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารชีวภาพสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพจากผู้ป่วย จัดตั้งขึ้นภายใต้สถาบันที่เป็นโรงเรียนแพทย์หลากหลายสถาบันในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือธนาคารชีวภาพในประเทศไทยระหว่าง 4 สถาบันเป็นพันธกิจสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านธนาคารชีวภาพ ยกระดับมาตรฐานธนาคารชีวภาพในประเทศไทย ผลักดันให้ธนาคารชีวภาพในเครือข่ายได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 20387:2018 Biotechnology-Biobanking-General requirements for biobanking เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากลในระดับประเทศและนานาชาติ
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย