ถอดแนวคิดเยาวชนรุ่นใหม่ ‘เท่อย่างไทย’ สู่พลัง Thailand Soft Power ในโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ประจำปี 2565
การประกวดโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ประจำปี 2565 ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา ได้มีการประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศเรียบร้อยแล้ว โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ การจุดประกายเยาวชนให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าในเอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการพูด และมารยาทอันดีงามของไทย รูปแบบการประกวดในปีนี้จะเป็นแบบไฮบริด คือ มีการประกวดในรูปแบบออนไลน์ในรอบคัดเลือก และรูปแบบออนไซต์ในรอบชิงชนะเลิศ โดยในปีนี้มีโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการมากถึง 1,276 โรงเรียน และเยาวชนกว่า 8,933 คน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 2,146 คน
นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เผยว่า “ทีเอ็มบีธนชาต มุ่งมั่นสานต่อกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ผ่านโครงการไฟ-ฟ้า (fai-fah) โดยทีทีบี มุ่งจุดประกายเยาวชนและชุมชนเสริมสร้างสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคมไทย สร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายให้ผู้คน ตอกย้ำปรัชญา Make REAL Change โดยได้จัดการประกวดโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ครั้งที่ 50 ประจำปี 2565 เพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ พร้อมส่งต่อสำนึกรักความเป็นไทยสู่สังคมอย่างยั่งยืนและแผ่ขยายให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผลักดัน Soft Power ของไทยสู่การยอมรับของเวทีโลก”
“ปีนี้ได้มีการจัดการประกวดในรูปแบบไฮบริด คือ การประกวดในรูปแบบออนไลน์ในรอบคัดเลือก เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียน และ เยาวชนทุกภาค ทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการประกวดได้อย่างเท่าเทียมเป็นวงกว้าง และรูปแบบออนไซต์ในรอบชิงชนะเลิศ โดยยังคงแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท คือ ประกวดมารยาทไทย ประกวดอ่านฟังเสียง และประกวดวาดภาพดิจิทัล การประกวดทำให้เห็นถึงมุมมองของเด็กไทยยุคใหม่ที่เติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ยังเห็นคุณค่าของ ‘ความเป็นไทย’ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดัน Soft Power ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป” นางสาวมาริสากล่าว
การเดิน ยืน นั่ง และไหว้อย่างไทย วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์แบบสากล แต่สำหรับน้อง ๆ ทีมชนะเลิศระดับมัธยมต้น ตัวแทนชมรมมารยาทไทย โรงเรียนจตุรมิตรวิทยา จังหวัดขอนแก่น เชื่อว่า มารยาทไทยเป็นเอกลักษณ์ที่เด็กรุ่นใหม่ต้องช่วยกันรักษา “สำหรับพวกเรามารยาทไทยสำคัญมาก ๆ เพราะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เวลาที่เราวางตัวดี ดูอ่อนน้อม เวลาเข้าหาผู้ใหญ่ก็จะเอ็นดู ต้องฝึกฝนมาก ๆ”
เช่นเดียวกับทีมชนะเลิศการประกวดมารยาทไทย ระดับมัธยมปลาย โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี ที่มีทั้งคนที่เคยประกวดมาแล้วหลายปีและน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าประกวดเป็นปีแรก แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ แสดงพลังเท่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ผ่านมารยาทไทย “มารยาทไทยเป็นอะไรที่เท่มากสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะการไหว้มีแค่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีวัฒนธรรมแบบนี้ ขนาดต่างชาติยังชื่นชม เลยอยากให้คนรุ่นเราช่วยกันรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้ และคนที่มีมารยาทดี รู้จักการไหว้ที่ถูกต้อง ยังปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้บุคลิกภาพดี ดูสง่า เป็นที่จดจำ อนาคตไปสมัครงานหรือไปเวทีระดับโลกจะต้องเป็นที่จดจำแน่นอน”
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ไทยที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักกับเยาวชนให้เห็นถึงคุณค่าคือ “การอ่านฟังเสียง” เด็กชายภูริวัชญ์ สมานรัตนเสถียร โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ รางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียงระดับ ระดับมัธยมต้น มองว่า “การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ดี เพราะการใช้คำในปัจจุบัน บางอย่างมีความกำกวม ถ้าเราใช้คำพูดได้อย่างถูกต้อง พูดชัดถ้อยชัดคำ จะทำให้การสื่อสารเข้าใจง่ายและไม่คลาดเคลื่อนครับ ผมคิดว่าในฐานะที่ผมเป็นเยาวชน ก็ทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และทำให้ดีที่สุด อย่างการฝึกอ่านออกเสียงและเรียนรู้วิธีการพูดให้ถูกต้อง คนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันน่าเบื่อ แต่สำหรับผมคิดว่ามันน่าสนุก ได้ท้าทายตัวเอง แล้วก็ชวนเพื่อน ๆ ให้มาลองทำด้วยกัน ก็จะช่วยให้วัฒนธรรมคงอยู่ต่อไปได้ครับ”
เด็กหญิงนุชวรา วัฒนศิริ โรงเรียนศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี รางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียงระดับมัธยมต้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเด็กรุ่นใหม่ที่คิดว่า “การอ่านภาษาไทยให้ชัดถ้อยชัดคำมันเท่มาก เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนไดอารี่ เลยเข้าใจว่าการใช้ภาษาให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของไทย ทุก ๆ ภาษามีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว เวลาเห็นคนพูดชัด อ่านถูกต้อง เขียนถูกต้อง ทำให้ภาษามีคุณค่ามากยิ่งขึ้น”
นางสาวพรรธน์ชนัน ทิพชัยวรภัทร์ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี รางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียง ระดับมัธยมปลาย “กว่าเธอจะคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศใช้เวลากว่า 4 ปี ฝึกฝน ลงแข่ง และฝึกฝนซ้ำ ๆ จนในที่สุดก็ทำสำเร็จ ทุกครั้งที่ฝึกอ่าน ก็พบเทคนิคใหม่ ๆ อยู่เสมอ ยิ่งทำให้เราเห็นเสน่ห์ของภาษาไทย แค่เปลี่ยนจังหวะหรือเว้นวรรค อารมณ์ความรู้สึกก็เปลี่ยน อยากให้เพื่อน ๆ ที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถด้านนี้ หรืออยากลองท้าทายตัวเอง มาสมัครแข่งขันกันเยอะ ๆ รับรองว่าจะตกหลุมรัก”
ด้านเด็กหนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน นายทรอย วินน์ ฮอร์ตัน โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ รางวัลชนะเลิศการประกวดอ่านฟังเสียง ระดับมัธยมปลาย พูดด้วยความมั่นใจว่าชอบภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าจะพูดได้สองภาษา แต่กลับรู้สึกตกหลุมรักภาษาไทยมากกว่า “ผมรักความเป็นไทย มันมีเสน่ห์ และมีประวัติศาสตร์ที่ผมอยากให้คนรุ่นผมหรือน้อง ๆ ภูมิใจ ส่วนตัวมองว่าเท่นะ ยิ่งถ้าพูดถูกต้อง ทำให้ดูเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี เวลาที่ผมคุยแชต ผมจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่พิมพ์ว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ถูกต้องหมายถึงพิมพ์ถูกและเลือกใช้คำได้ถูกด้วย”
สำหรับการประกวดวาดภาพดิจิทัล ที่เริ่มจัดให้มีการประกวดครั้งแรกในปี 2021 เนื่องจากต้องการเชื่อมต่อกับรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันและสะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย ภายใต้หัวข้อ ” Thailand Soft Power ปลุกพลังความเป็นไทย ให้ก้าวไกลสู่สากล” เด็กหญิงปวริศา อนันตศิริ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากผลงานวาดภาพดิจิทัล ‘สุดเท่เสน่ห์ไทย’ ต้องการนำเสนอ Soft Power ผ่านโซเชียลมีเดียจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยใช้แสงให้เป็นจุดเด่น สื่อถึงการท่องเที่ยวในเวลากลางคืน (Night Life) และ สตรีทฟู้ด (Street Food) ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นจุดเด่นของเมืองไทย สำหรับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยสามารถทำได้หลายวิธี ส่วนตัวคิดว่าการวาดรูปที่สื่อถึงความเป็นไทยและโพสต์รูปลงในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากจะอยู่ในนั้นตลอดไปและเพื่อน ๆ จะได้เห็น ที่สำคัญทุกคนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้”
ด้านนายจิรายุ ทองจันทร์ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จังหวัดเลย รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มองว่า ‘Soft Power’ คือสิ่งที่ช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวหน้านำไปสู่คอนเซปต์ของผลงาน ‘เยาวชนรวมพลัง’ “ผมมองว่าตอนนี้ประเทศไทยมีเยาวชนที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเยอะมาก ๆ เช่น มิลลิ ที่เอาข้าวเหนียวมะม่วงไปโชว์บนเวทีระดับโลก และ Soft Power ของไทยก็มีหลายอย่างที่มีชื่อเสียง การอนุรักษ์วัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องล้าสมัย อยู่ที่ว่าเราจะนำเสนออย่างไร ส่วนตัวก็เลือกนำเสนอผ่านภาพวาดดิจิทัล หาวิธีเล่าเรื่องให้แปลกใหม่จะทำให้ดูน่าสนใจมากขึ้น”
เหล่านี้ คือ มุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่เชื่อว่า ‘เท่อย่างไทย ๆ ก็เป็น Soft Power ได้’ ไม่ว่าจะเป็นใคร มีความสามารถด้านไหนก็ช่วยกันอนุรักษ์ความเป็นไทยตามแต่วิธีการของตัวเอง ก็สามารถที่จะรักษาคุณค่าความเป็นไทย ด้วยการสืบต่อคุณค่าของมารยาทไทย สืบสานความงดงามด้านภาษา และสร้างความเท่อย่างไทยด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้นั่นเอง
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนโดยทีทีบีด้านการจุดประกายความเป็นไทยได้ที่ www.เท่อย่างไทย.com และกิจกรรมสังคมอื่น ๆ ได้ที่ www.ttbfoundation.org
ที่มา: ชมฉวีวรรณ