BYD จับมือ DPU ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีการเงิน Robot Trading
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินและการลงทุนในโลกธุรกิจมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในตลาดเงิน และตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเป็นเครื่องมือช่วยประกอบการลงทุนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการลงทุน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดโครงการ Beyond Wealth Arena ผ่านกิจกรรม Workshop เพื่อส่งเสริมทักษะในการเทรดหุ้นจำลอง ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวได้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของ Beyond Intelligence Trading ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน Robot trading ผ่านเครื่องมือ Meta Trader 5 (MT5)
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ความสำคัญของการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ในโลกธุรกิจปัจจุบัน และการพัฒนานักศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ เป็นบทบาทที่สำคัญที่วิทยาลัย จำเป็นต้องสร้างนักศึกษาให้เข้าใจถึงบทบาทของนักบริหารการเงิน การเป็นผู้ประกอบการ และนักลงทุนมืออาชีพในอนาคต
คุณเพียรศักดิ์ อัศวโภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) วิทยากรพิเศษในงานอบรมดังกล่าว ได้กล่าวว่า โครงการนี้วางพื้นฐานให้ผู้สนใจเข้าสู่โลกแห่งการลงทุนอย่างมีทักษะ และความรู้ โดยเริ่มตั้งแต่การรู้จักตนเอง และทำให้สิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เรามี ให้เกิดดอกผลจากโลกของการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น ได้รับเกียรติจาก คุณจิระเดช คูหากาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท๊อปเทรดเดอร์ จำกัด ได้เป็นวิทยากรพิเศษ ร่วมบรรยายให้นักศึกษา เห็นประโยชน์ของการลงทุนในหุ้น โดยเน้นย้ำถึงวิธีการนำเทคโนโลยีด้าน Robot Algorithm มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนให้ดีเยี่ยมขึ้นกว่าเดิม และยังได้ชี้ช่องให้นักศึกษาได้เห็นถึง งานใหม่ ในพื้นที่ใหม่ของอุตสาหกรรม Financial Technology หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “FinTech”
ดร. กุลบุตร โกเมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน เทคโนโลยีการเงินและการลงทุน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูรณาการองค์ความรู้จากห้องเรียนสู่การปฏิบัติจริงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากนักศึกษาที่เรียนในวิชาการเงิน และการลงทุนจะสามารถประยุกต์ ความเชื่อมโยงของโมเดลทางการเงินต่าง ๆ สู่การลงทุนในตลาดทุนเสมือนจริง เสริมด้วยการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการเงินมาช่วยในการเทรด ดังเช่น การนำหลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงินในตราสารต่างๆ ในชั้นเรียน มาประยุกต์เพื่อกระจายพอร์ตการลงทุน หรือการนำตราสารทางการเงิน เช่น ตราสารอนุพันธ์ มาป้องกันความเสี่ยงพอร์ตมูลค่าการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น การที่นักศึกษาได้นำความรู้มาใช้เทรดเงินเสมือนในโครงการมาประยุกต์ใช้ สามารถทำให้นักศึกษาเห็นภาพรวมของการลงทุน และเข้าใจถึงความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทน รวมถึงกลไกของตลาดทุนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์