มรภ.สงขลา ปั้นนักศึกษาปี 1 เป็น อสม.น้อย หลักสูตรสาธารณสุขฯ
คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา พัฒนานักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้เป็น อสม.น้อย หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สร้างองค์ความรู้การสาธารณสุขมูลฐานแนวใหม่ ควบคู่จัดการเรียนการสอนเสริมประสบการณ์ตรงให้ผู้เรียน
อาจารย์ ดร.ภัชชนก รัตนกรปรีดา ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ส.บ.) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้หลักสูตร ส.บ. จัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้เป็น อสม.น้อย หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ครั้งที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2565 ณ ห้องประชุม 1 อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา วัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการสาธารณสุขมูลฐานแนวใหม่ รวมถึงส่งเสริมการการจัดการเรียนการสอนด้วยการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน ซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ให้สามารถนำองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับการฝึกปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ได้ เช่น การเรียนวิชาเอกในชั้นปีที่สูงขึ้น การฝึกประสบการณ์ทางสาธารณสุข เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังเป็นการดำเนินงานตาม มคอ.2 หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ที่ได้กำหนดความคาดหวังของผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อสิ้นปีการศึกษาของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไว้ว่า เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิต อาสาช่วยเหลือผู้อื่น เริ่มมีใจรักในวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ และมีทักษะในการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้เบื้องต้น โดยผ่านผลการประเมินเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.น้อย)” ที่จะต้องมีความสามารถในการวางแผน การดำเนินงาน ติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผลลัพธ์ภายใต้ขอบเขตงานการสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทย
ทั้งนี้ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ทางหลักสูตรฯ มีการเปิดสอนรายวิชา 4952303 การสาธารณสุขมูลฐานแนวใหม่ มคอ.3 ได้ระบุการจัดการเรียนการสอนตามกรวยประสบการณ์ (Cone of Experience) การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือประสบการณ์ตรง อันเป็นประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากสถานการณ์จริงหรือการกระทำของตนเอง และในที่นี้จะเป็นการเรียนรู้ที่ต้องถ่ายทอดผู้อื่น จึงนำมาสู่การจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้เป็น อสม.น้อย โดยบูรณาการการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชานี้ได้ฝึกฝนเป็นผู้ดำเนินการโดย นางสาวอรุณรัตน์ กล้าคง ประธานโครงการฯ และนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์ ผู้รับผิดชอบวิชา และคณะกรรมการหลักสูตรฯ
ในการดำเนินโครงการครั้งนี้มีวิทยากรพี่เลี้ยง จำนวน 2 คน คือ อสม.ชนานันท์ สังข์ทอง อสม.ดีเด่น สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน ปี2559, ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนสีระเวช และนายนิมิตร แสงเกตุ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างศักยภาพทางด้านสาธารณสุขให้แก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี
ที่มา: มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา