ม. มหานคร ฉีกกฎการเรียนวิศวะ! นศ. ปี 4 เน้นเรียนแบบ “Real-World Learning” ประเดิม 2 สาขา เริ่ม มิ.ย. 2566
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ โชว์วิสัยทัศน์พัฒนาหลักสูตรตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาของผู้เรียน Gen Z และรุ่นต่อ ๆ ไป ในอนาคต ปลดล็อกการเรียนการสอนแบบรายวิชา สู่ ‘การเรียนรู้นอกกรอบ’ ที่ต้องลงมือค้นหา เน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน (learning outside the classroom) แบบ “Real-World Learning” โดยใช้โลกกว้างเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการเรียนรู้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกให้มีความรับผิดชอบ รู้จักแก้ไขปัญหา และกล้าตัดสินใจ เพื่อสั่งสมประสบการณ์โดยตรงและเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญกับสังคมคนทำงานของจริงที่มีการแข่งขันสูงทั้งในเชิงโครงสร้างและเทคโนโลยีในตลาดแรงงานยุคใหม่ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ใน 7 สาขา โดยจะเปิดประเดิม 2 สาขาแรก ได้แก่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และออโตเมชัน ในปีการศึกษา 2566 และอีก 5 สาขา ได้แก่วิศวกรรมกระบวนการ วิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมโมบายซอฟต์แวร์ วิศวกรรมเครือข่ายและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัลมัลติมีเดียอาร์ต จะเริ่มในปีการศึกษา 2567
เป็นเวลากว่า 33 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2533 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เติบโตขึ้นจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่โดดเด่นที่สุดและมีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบัณทิตที่ ‘พร้อมใช้’ และจะเป็น ‘วิศวกร’ และ ‘นวัตกร’ คุณภาพสูงซึ่งเป็นที่ต้องการและยอมรับของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้ เพราะแนวการเรียนการสอนของเราไม่ใช่แค่การให้องค์ความรู้ที่เป็นทฤษฎีอยู่ในตำราเรียนเท่านั้น แต่ MUT ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษามาโดยตลอด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมุ่งหวังว่า วิศวกรและนวัตกรรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญ ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศและยกระดับจากประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมุ่งสู่เป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศในอนาคต
MUT ในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชนที่เป็นแหล่งผลิตวิศวกรและนวัตกรเป็นจำนวนมากออกสู่ภาคอุตสาหกรรม การมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นหัวใจสำคัญเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้นำแนวคิดเชิงอุตสาหกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะภาคปฏิบัติเหมือนอยู่ในสถานการณ์การทำงานจริง โดยในปี พ.ศ. 2563 MUT ได้เปิด สถาบันนวัตกรรมมหานคร (Mahanakorn Institute of Innovation) หรือ MII และ “บริษัทนวัตกรรมมหานคร” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการแห่งการจัดการด้านงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ผลิตผลงานต่าง ๆ มากมาย ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า หลักสูตรการเรียนนอกห้องเรียนแบบ “Real-World Learning” ตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาและความต้องการของเด็กสายวิศวะพันธุ์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจนแซด (Gen Z) และเจนต่อ ๆ ไป ทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีสูง (Technology savvy) เรียนรู้เทคโนโลยีได้ว่องไวและใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของเด็กวิศวะเลือดใหม่ให้แข็งเกร่งมากยิ่งขึ้น เราจึงปรับหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาวิศวะชั้นปีที่ 4 ซึ่งจากเดิมต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัติในสถานประกอบการพร้อมกับทำโปรเจ็คจบไปด้วย มาเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากการทำงานจริงใน ‘บริษัทนวัตกรรมมหานคร’ โดยเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษามาเป็นพนักงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร และบรรดาคณาจารย์ผู้สอนก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นวิศวกรหัวหน้างาน
MUT ออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ (Study Journey) และแนวการเรียนการสอนของนักศึกษาที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเอง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นการเรียนตามหลักสูตรรายวิชาพื้นฐานเพื่อให้ปรับตัว สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 จะเน้นการเรียนแบบ Modular เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริงโดยอิงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ความสนใจและบริบทของสังคมที่พลิกผันตลอดเวลา แต่ยังคงเน้นแนวการเรียนการสอนแบบ Problem-based Learning คือเน้นการนำปัญหามาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เป็นการเรียนรู้ในโลกแห่งความเป็นจริง (Real-World Learning) จากการปฏิบัติงานจริงกับศูนย์นวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจมหานคร และ บริษัทนวัตกรรมมหานคร ที่ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เน้นพัฒนาทักษะทั้งด้าน soft skills และ hard skills เพื่อใช้ “หัวใจ” และ “สมอง” ในการทำงานควบคู่กันไป เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานให้แก่นักศึกษา อันจะส่งผลให้นักศึกษาเติบโตและพร้อมออกไปทำงานได้จริงหลังสำเร็จการศึกษา
“เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น เราจึงได้ลงทุนซื้อซอฟต์แวร์ระดับใช้งานจริงในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม มาให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในศูนย์นวัตกรรมมหานครและบริษัทนวัตกรรมมหานคร รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน (Business English) เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับหลังสำเร็จการศึกษาจาก MUT นอกจากปริญญาบัตรแล้ว ยังจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกอบรมและทำงานในสาขานั้น ๆ เช่น ไมโครซอฟท์ ออราเคิล ฯลฯ พร้อมประสบการณ์การทำงานจริงในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกรเป็นเวลา 1 ปีอีกด้วย” ดร. ภานวีย์ กล่าวเสริม
อนึ่ง บรรดาคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มากประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ล้วนมีบทบาทสำคัญ อาทิเป็นที่ปรึกษา เป็นบอร์ดบริหารในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และมีสายสัมพันธ์ด้านความช่วยเหลือร่วมมือทางวิชาการที่ดีกับภาครัฐทำให้ MUT ได้ภาพที่ชัดเจนว่า ตลาดงานต้องการใช้ทักษะอะไรจากนักศึกษาของเรา เราก็จัดการติดตั้งทักษะนั้นอย่างเข้มข้นให้แก่นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรแนวใหม่ของเรา หรือ หากนักศึกษาต้องการจะเข้าปฏิบัติงานในองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทนวัตกรรมมหานคร เราก็มีเครือข่ายความร่วมมือที่จะฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้ ดังนั้น นี่คือคำตอบที่ว่าทำไม MUT จึงเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับหนึ่งด้านวิศวกรรมศาสตร์ และทำไมบัณฑิตวิศวะของ MUT จึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ที่มา: แพมพลัสพลัส