ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 2 บริษัทเอกชน เอ็มโอยูวิจัยกัญชาครบวงจร
ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 2 บริษัทเอกชน ลงนามความร่วมมือ วิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ยกระดับสายพันธุ์กัญชาของไทยและผลผลิตจากสารสกัดกัญชาไทยให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก พร้อมพัฒนายาที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) พร้อมด้วย นายหิรัญปกรณ์ ทองเหม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ต โคโค่ อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต จำกัด และนายณัฐฐาพล สุริยณครัมมญ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มนตราแมนเนจเมนท์ จำกัด ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตกัญชาทางการแพทย์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. Mr.Lucas Bart Myer บริษัท ภูเก็ต โคโค่ อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต จำกัด และนางสาวพัชรกันต์ สุริยณครัมมญ์ บริษัท มนตราแมนเนจเมนท์ จำกัด ลงนามเป็นพยาน ท่ามกลางผู้บริหารและบุคลากรของทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันเป็นสักขีพยาน ณ ห้องเกียรติยศ ชั้น 4 อาคารอำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ
ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับโลก ได้รับการจัดอันดับโลกจาก World University Rankings โดย Times Higher Education อันดับที่ 1501+ ของโลก อันดับที่ 11 ของไทยเป็นปีแรก ซึ่งเรื่องของการวิจัยถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยพัฒนาทั้งด้านการเรียนการสอนและการก้าวสู่อันดับโลกดังกล่าว ทั้งนี้ปัจจุบันกัญชาหรือกัญชง เป็นพืชที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ยกให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยมีภาคเอกชนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนทำงานเพื่อตอบสนองนโยบาย และมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรด้านการศึกษาที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความเข้มแข็งทางด้านการเกษตร อาหาร การแพทย์ เภสัช ไอที และอื่นๆ ซึ่งความพร้อมเหล่านี้สามารถสนับสนุนการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ
สำหรับการลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกัน พัฒนางานวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ทั้งการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระบบปิด การสกัดกัญชาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนาห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเพื่อการวิเคราะห์ทดสอบสารสกัดจากกัญชา การพัฒนายาที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ตลอดจนเพื่อยกระดับสายพันธุ์กัญชาของไทยและผลผลิตจากสารสกัดกัญชาไทยให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลาด้วยกัน 3 ปี
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์