ม.มหิดล แนะสร้างโอกาสการเรียนรู้จากค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
“คาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Footprint) เกิดขึ้นได้จากทุกกิจกรรมของมนุษย์ แม้การใช้ข้อมูลดิจิทัลที่เกินกว่าความจำเป็น เป็นเหตุสำคัญทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้นได้เช่นกัน
อาจารย์ ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิทยบริการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่แต่ละบุคคล หรือองค์กรสร้างขึ้น ถือเป็น “โอกาส” ในการเรียนรู้จากผลกระทบ เพื่อเป็นข้อมูลให้สามารถนำไปจัดการต่อได้ในอนาคต
นับเป็นเวลา 5 ทศวรรษแล้วที่ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดการเรียนการสอน วิจัย และบริการวิชาการเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยในด้านอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม ได้มีการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม (ECO-INDUSTRY Research and Train Center) เพื่อดูแลในด้านดังกล่าวโดยเฉพาะ
ในขณะที่ทั่วโลกมีการตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องการวัดและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์กันอย่างกว้างขวาง โดยที่สหภาพยุโรป(EU) ได้มีการเตรียมประกาศ “มาตรการ CBAM” หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการกีดกันทุกสินค้านำเข้าที่มีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงเกินจริง ที่จะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศคู่ค้าทั่วโลก
จึงรอช้าไม่ได้ที่ทุกประเทศจะต้องมีการประกาศมาตรการวัดและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์กันอย่างจริงจัง โดยในส่วนของประเทศไทย คาดว่าในเร็วๆ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกต่อไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “Decarbonization” เพื่อการลดร่องรอยสู่ภาวะโลกร้อนดูเหมือนจะยังคงไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควรเนื่องจากติดปัญหาที่หลายองค์กรในประเทศยังขาดความเข้าใจ การกำหนดเป้าหมาย และทิศทางในการวัดและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่แน่นอนและมีประสิทธิภาพ
“อุปสรรคสำคัญที่พบเกิดจาก ผู้ประกอบการยังคงขาดความเข้าใจ ไม่ทราบว่าจะต้องวัดและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปเพื่ออะไร จึงไม่กล้าที่จะลงทุนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค ทำให้ขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการไปด้วย” อาจารย์ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ กล่าวอธิบายเพิ่มเติม
ซึ่งการจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจชาติไม่หยุดชะงัก และเกิดความยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต ทุกภาคส่วนควรพิจารณาใช้กลไกของ “Decarbonization” มาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดโลกร้อน โดยมีการวัดผล และติดตามอย่างเป็นระบบ
ทันทีที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจะได้เป็น “ประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน” ที่มีการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างเป็นรูปธรรมมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม (ECO-INDUSTRY Research and Train Center) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ พร้อมรับหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” มอบองค์ความรู้ และให้คำปรึกษา ติดต่อได้ที่โทร. 0-2441-5000 ต่อ 1001 Facebook : ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม
.
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล