มจธ. ปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 9 พัฒนาศักยภาพคนพิการ เพิ่มโอกาสในการทำงานและสร้างอาชีพ ใน 3 หลักสูตร
โครงการ “ฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2565 โดยปีนี้มีคนพิการเข้าร่วมทั้งสิ้น 33 คน ได้รับการสนับสนุนโครงการจากสถานประกอบการ ซึ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด บริษัท ศรีไทยมิยากาวา จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,770,085 บาท นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ 2 กองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ สำนักงานเขตทุ่งครุ ล่าสุด ได้มีพิธีปิดโครงการ พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้แก่คนพิการที่เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ. นอกจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งคือการสร้างวัฒนธรรมการมีจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นกับบุคลากรและนักศึกษาได้เห็นถึงความเสียสละ การนำความรู้ความสามารถและศักยภาพที่มีช่วยเหลือสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประเทศเติบโตและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน การอบรมนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัท องค์กรภาครัฐ และต่อคนพิการเองในการนำความรู้ และทักษะที่ได้รับการฝึกฝนนำไปประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทและการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่าต่อไปในสังคม
อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ.กล่าวว่า มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดทำโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่ปี 2557 ในปีนี้เป็นรุ่นที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2565 รวม 6 เดือน มีคนพิการเข้าร่วมการอบรมรวมทั้งสิ้น 33 คน ใน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร “เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน” 13 คน, หลักสูตร “การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล” 8 คน และหลักสูตร “การพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น” 12 คน แบ่งเป็นการอบรมพื้นฐานทั่วไปด้านสังคม การใช้ชีวิต 2 เดือน อบรมด้านวิชาชีพ 2 เดือน และฝึกงานในสถานประกอบการจริง หรือ ทำโครงงานด้านอาชีพอิสระ 2 เดือน ซึ่งความท้าทายของโครงการ คือ การคัดกรองคนพิการเข้าร่วมโครงการ และการเรียนรู้ร่วมกันของคนพิการที่มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ดังนั้นการอบรมจึงเป็นการออกแบบเนื้อหาให้เป็นไปในรูปแบบการใช้กิจกรรมร่วมเพื่อการเรียนรู้ (Activities Based Learning) และการดำเนินโครงการเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของ มจธ. และเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎวลัยอลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทาลัยราชภัฎมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ องค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ สถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และวิทยากรรับเชิญอีกหลายท่าน
“โดยในปีนี้รูปแบบการฝึกอบรมเป็นแบบผสมผสานมีทั้งแบบออนไลน์และแบบออนไซต์ สำหรับหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน และหลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เป็นการอบรมแบบออนไลน์ (4 เดือน) โดยการผสมผสานระหว่างการฝึกอบรมแบบห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) ผ่านโปรแกรม Zoom และ ใช้ระบบ E-Learning ผ่านโปรแกรม Moodle เพื่อให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ย้อนหลังและประเมินความรู้ผู้เรียน ส่วนช่วง 2 เดือนสุดท้ายเป็นการฝึกอบรมในรูปแบบออนไซต์ที่ มจธ.โดยหลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล มีความสามารถ และทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบ เพื่อนำไปจัดวางบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สมุดบันทึก สติกเกอร์ ถุงหุ้มกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น เพื่อทำการผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ทำ” ซึ่งจะดำเนินการผลิต พร้อมจัดจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ต่อไป สำหรับหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ได้ดำเนินการฝึก ณ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย-โพนปลาโหล อ.เต่างอย จ.สกลนคร ส่วนใหญ่เป็นคนพิการสูงอายุในชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “เฮ็ดดิ” เป็นการนำความรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านมาผสมผสานกับความรู้เชิงวิชาการต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานผ้าย้อมครามจนเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้ร่วมออกร้านในการแสดงสินค้าของจังหวัดสกลนครและขายสินค้าออนไลน์ สร้างรายได้แก่คนพิการในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 60,000 บาท”
ประธานโครงการ กล่าวว่า สำหรับผลดำเนินโครงการที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 – 2565 มีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 10 แห่ง มีคนพิการเข้ารับการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ รวม 359 คน และมีคนพิการที่ได้รับการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด และในปี 2566 ซึ่งจะครบ 10 ปีของโครงการฯ มจธ. มีแผนในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการใช้ชีวิตในวิถีปกติของคนพิการ อาทิ การเสวนาด้านอาชีพคนพิการ และการประกวดนวัตกรรมเพื่อคนพิการ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “1 ทศวรรษ มจธ. เพื่อพี่น้องคนพิการ” พร้อมกับการทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในคุณภาพชีวิตของคนพิการทั้ง 10 รุ่น เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายต่อไป
จำรัส อารีย์ หรือ เอ้ อายุ 47 ปี พิการด้านการเคลื่อนไหว เล่าว่า เดิมเป็นคนจังหวัดเชียงราย ประสบอุบัติเหตุรถชนตั้งแต่อายุ 20 ปี เดินไม่ได้ต้องใช้ไม้ค้ำยันมาตลอด เนื่องจากครอบครัวฐานะยากจนต้องหารายได้จากการขายของเล็กๆน้อยๆ และเป็นลูกจ้างในร้านอาหาร เพื่อเลี้ยงชีพและเก็บเงินกว่า 2 ปีเพื่อใช้เป็นค่ารักษาและผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมและเหล็กครอบข้อเท้าจนเดินได้ในระดับหนึ่ง พอเกิดโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้คนมองอย่างสงสาร เห็นเรามีความพิการแล้วจะต้องคอยช่วยเหลือ จึงอยากทำอะไรได้ด้วยตนเอง อยากลองฝึกทักษะอะไรใหม่ๆ ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ขายของออนไลน์ เพราะจะได้ไม่ต้องใช้กำลังมาก แต่ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจและไม่มีความรู้เรื่องโซเชียลมาก่อน พอเห็นทางโครงการฯ เปิดรับสมัครจึงสนใจสมัครเข้ามาอบรมในหลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล แต่ด้วยความรู้ระดับชั้นมัธยม 3 ตอนแรกยอมรับรู้สึกกังวลว่าจะทำได้ไหม แต่พอมาอบรมกลับไม่เป็นอย่างที่คิด อาจารย์สอนดีมาก ให้ความรู้ให้คำแนะนำดี ทำให้เข้าใจง่ายจากสิ่งที่ยากๆ เจ้าหน้าที่โครงการเองก็ให้การดูแลอย่างใกล้ชิดอุทิศตนให้กับคนพิการอย่างเต็มที่ พอมาเรียนรู้สึกชอบ และทำให้อยากเรียน อยากมีความรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก
“การมาเรียนที่นี่ทำให้เปลี่ยนมุมมองจากที่เคยกลัวโลกภายนอกสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ รู้สึกตนเองมีคุณค่ามากขึ้น และยังได้มิตรภาพจากเพื่อนๆ คนพิการ ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ มจธ. ดีใจมากเป็นเรื่องเกินกว่าที่คาดหวังไว้ จึงอยากชวนเพื่อนๆ คนพิการสมัครเข้ามาเพราะเป็นโครงการที่ดีมาก เพื่อเราจะได้รับความรู้ ได้ไอเดีย โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องอายุเท่าไหร่ อยากให้เปิดใจ เปิดโอกาสให้ตัวเอง มาพัฒนาทักษะ เพื่อโอกาสในการทำงานในอนาคต”
ด้าน สุบงกช ศรีขาว หรือ นุช อายุ 34 ปี พิการทางการเคลื่อนไหว เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยเข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 8 ในหลักสูตรสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เพราะอยากรู้ว่าสื่อดิจิทัลคืออะไร พอมาได้เรียนจึงรู้ว่าเป็นเรื่องการออกแบบกราฟิก การตัดต่อวิดีโอ การถ่ายภาพที่พัฒนาต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้รู้ว่าถ้าผลิตภัณฑ์แบบนี้ต้องใช้โปรแกรมแบบไหนหรือวางภาพอย่างไรให้น่าสนใจ และทำให้รู้ว่าโฆษณาที่เห็นในทีวีนั้นเขามีขั้นตอนในการทำงานกันอย่างไร รวมถึงเรื่องของการสื่อสาร หลังจากนั้นได้นำความรู้ไปขายต้นไม้บอนสีออนไลน์สร้างรายได้ พอโครงการเปิดรับสมัครรุ่นที่ 9 ก็มาสมัครอีกครั้งในหลักสูตรเจ้าหน้าที่สำนักงาน เพราะอยากเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานสำนักงานและองค์กรว่าทำงานกันอย่างไร
สิ่งที่ได้ คือ สามารถนำความรู้จาก 2 หลักสูตรไปประกอบอาชีพหรือเปิดโอกาสในการเข้าทำงานกับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ได้ ที่สำคัญ คือ ได้วิชาชีวิต ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ยอมรับว่า ชีวิตวันนี้เปลี่ยนไป ทัศนคติมุมมองเปลี่ยนไป จากที่เคยเก็บตัว เครียด และเกือบเป็นโรคซึมเศร้า พอมาเข้าอบรมในโครงการ สิ่งที่ได้เกินกว่าที่คาดหวังมาก ที่นี่เปรียบเสมือนโรงเรียนชีวิต เพราะนอกจากสอนวิชาการแล้ว ยังสอนทักษะการใช้ชีวิต ทำให้เราได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้เพื่อน ได้มิตรภาพ และเปิดโอกาสให้เราได้แสดงศักยภาพที่เรามี ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า จึงอยากขอบคุณโครงการที่เห็นคุณค่าในตัวคนพิการ และมอบโอกาสดีๆ ให้กับคนพิการที่หาจากที่ไหนไม่ได้
“ชีวิตวันนี้เปลี่ยนไป ทำให้เรารู้ว่าร่างกายไม่ได้มีขีดจำกัดในการใช้ชีวิต ทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา ถ้าใจเราสู้อะไรก็เป็นไปได้หมด ถ้าเราคิดบวกอะไรก็สดใส”
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี