สอวช. – คุรุสภา – SEAMEO STEM-ED – เชฟรอน ผนึกกำลัง 10 มหาวิทยาลัย เดินหน้าโครงการ STEP ปลดล็อกยกระดับการผลิตครูมืออาชีพให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) – คุรุสภา – ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education / ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) – บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมเปิดตัวโครงการครุศึกษายุคใหม่ หรือ Strengthening Teachers Education Program (STEP) ตั้งเป้าเป็นโมเดลต้นแบบที่ช่วยยกระดับการพัฒนาคุณภาพการผลิตครูรุ่นใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแล้ว จำนวน 10 แห่ง
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า บทบาทของ สอวช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ผ่านมาได้ร่วมสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายส่วนในด้านการอุดมศึกษา โดยเฉพาะการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาให้สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน สิ่งที่ สอวช. ร่วมขับเคลื่อน เช่น แนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ที่เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษา เครือข่ายและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง สามารถออกแบบหลักสูตรการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากการจัดการศึกษารูปแบบเดิมได้อย่างอิสระ โดยยกเว้นข้อจำกัดการจัดการศึกษาแบบเดิม เพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติข้อเสนอหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ไปแล้วรวม 4 หลักสูตร
นอกจากนี้ สอวช. ยังมีความร่วมมือในการเปิดตัวแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแห่งอนาคตรองรับการลงทุนภาคการผลิตและบริการ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ต้องการยกระดับทักษะตนเอง สามารถเข้าไปเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวมีหลักสูตรที่ผ่านการยอมรับจากบริษัทและองค์กรชั้นนำ จำนวนมากกว่า 250 หลักสูตร สามารถรองรับนักศึกษากว่า 2 ล้านคน
“อีกบทบาทสำคัญของกระทรวง อว. คือการผลิตครู ที่ในปัจจุบันบทบาทของครูควรต้องปรับเปลี่ยนไป จากที่เป็นแค่ผู้สอน จะต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นเมนเทอร์ หรือเป็นโค้ช ให้กับนักเรียน ต้องมีความพร้อมที่จะดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อนักเรียนต้องการคำปรึกษา ครูต้องพร้อมที่จะให้คำปรึกษาได้เสมอ โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เราจึงต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาครู ต้องดูว่าเราต้องการครูแบบไหน ซึ่งนอกจากกระทรวง อว. ที่มีบทบาทในการพัฒนาครูแล้ว อีกหน่วยงานสำคัญคือคุรุสภาของไทย ที่ต้องสร้างมาตรฐานการผลิตครูให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งการนำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเข้ามาประยุกต์เข้ากับการสอนในประเทศไทย เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนาศักยภาพครูในไทยได้ โดยเฉพาะแนวทางการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริงมากกว่าภาคทฤษฎี” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า โครงการ STEP ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ให้พร้อมจบไปเป็นครูมืออาชีพ โดยจะนำองค์ความรู้และเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) สถาบันผลิตครูชั้นนำของสหรัฐอเมริกา มาถ่ายทอดให้กับคณาจารย์และนิสิตนักศึกษา “เน้นการฝึกปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี” เพื่อใช้ในการสอนได้จริง สอดรับงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งระบุว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะครูวิชาชีพในอนาคตต้องเพิ่มทักษะการสอนด้วยกระบวนการฝึกประสบการณ์จริงที่เข้มข้นมากกว่าทฤษฎี
“คาดหวังว่าโครงการนี้จะนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางกำกับคุณภาพวิชาชีพครู อาทิ มาตรฐานหลักสูตรในการผลิตครู การออกใบประกอบวิชาชีพครู ฯลฯ ช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพให้กับวงการครูได้แบบบูรณาการ ตั้งแต่ผู้ผลิตครูต้นน้ำ ได้แก่ มหาวิทยาลัย คณาจารย์ จนถึงปลายน้ำอย่างกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่จบออกไปเป็นครูวิชาชีพในอนาคต” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญของโครงการ ประกอบด้วย 1.ภาควิชาการ ถ่ายทอดแนวปฏิบัติการสอน (Core Teaching Practices) พื้นฐานจำเป็นที่ครูต้องเรียน อาทิ การฝึกเทคนิคและวิธีการสอนที่ช่วยในการตั้งคำถาม พร้อมให้คณาจารย์และนิสิตนักศึกษาช่วยกันหากระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอน สร้างและแบ่งปันเนื้อหา/แพลตฟอร์ม กรณีศึกษาต่างๆ โดยเชิญ Consortium for Core Practices จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มาให้คำแนะนำ 2.ภาคปฏิบัติ จัดตั้งเป็นทีม โดยเน้นกระบวนการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการที่มีคุณภาพ โดยแต่ละทีมต้องมีครูพี่เลี้ยง ที่มีประสบการณ์การสอนและผ่านการอบรมด้านการให้คำปรึกษา มาช่วยให้คำแนะนำ พร้อมเข้าเยี่ยมนิสิตนักศึกษาเพื่อให้คำปรึกษา 2 ครั้งต่อเดือน
“โครงการ STEP เป็นโครงการระยะยาว 3 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2565 – กันยายน 2568 ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” ดร.พรพรรณ กล่าว
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ STEP นับเป็นการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและนโยบายการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้กับประเทศ ซึ่งเชฟรอนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการฯ ทั้งการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ทุนการดำเนินโครงการ การฝึกอบรม ทุนวิจัย และการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านบาท โดยโครงการ STEP นับเป็นอีกหนึ่งการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Chevron Enjoy science: สนุกวิทย์พลังคิด เพื่ออนาคต ในระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะครูในสาขาสะเต็ม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ยังสอดรับตามเจตนารมณ์ของเชฟรอนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘พลังคน’ อันถือเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่เชฟรอนได้ดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน
อนึ่ง ศูนย์ SEAMEO STEM-ED เป็นองค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามมติ ครม. ภายใต้การตกลงร่วมกันระหว่างสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Council หรือ SEAMEC) ของกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน ภารกิจหลักเพื่อเป็นศูนย์กลางวิจัยพัฒนา เผยแพร่องค์ความรู้นวัตกรรมด้านสะเต็มศึกษา พร้อมให้คำเสนอแนะแก่ผู้กำหนดนโยบายใน 11 ชาติอาเซียน
ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)