ระดมสมองปรับตัวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เปิดพิมพ์เขียวองค์กรรับมือความท้าทาย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ “โครงการมหาวิทยาลัยดิจิทัล” ภายใต้สถาบันคลังสมองของชาติ จัดการเสวนาออนไลน์ Digital University: enabling the smart society ประเด็น “แผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ระดับชาติ ก้าวสู่ปีงบประมาณใหม่และทิศทางที่ก้าวไปในปี 2023” เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่และการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับตัวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่มีความเข้มแข็งทั้งภายในและภายนอกโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน
อ.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เผยว่า มหาวิทยาลัยต้องตั้งหลักให้พร้อมรับกลยุทธ์ใหม่และเกณฑ์ประเมิน เกณฑ์คุณภาพต่าง ๆ จึงต้องทำความรู้จักกับ “พิมพ์เขียวองค์กร” เพื่อรับมือกับโลกของ VUCA เผชิญกับความผันผวน ความท้าทายใหม่ และกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งพิมพ์เขียวนี้เป็นแผนผังแสดงหน่วยองค์ประกอบความสามารถต่าง ๆ ขององค์กร ที่แบ่งเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ผู้บริหารและทีมงานเห็นภาพขององค์กรตรงกันสู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่งในยุควิกฤตมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดหลายอย่างและอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก จึงต้องมีข้อมูลที่ใช้งานร่วมกัน เช่น การบริการหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน “เราต้องมีโรดแมปมุ่งสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยมีเครื่องมือกำหนดระยะความสำเร็จจากระยะเริ่มต้นหรือทดลองทำ ไปสู่การทำให้มีมาตรฐานและสามารถขจัดความซ้ำซ้อน เชื่อมโยงการทำงานอย่างไร้ร้อยต่อ สู่ระบบที่สามารถต่อยอดบริการได้อย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงงานและเงินอย่างมีคุณภาพ”
เช่นเดียวกับ ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่ามหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและได้ประโยชน์ ทำให้คนที่เคยหลุดจากระบบมีโอกาสได้เรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยไทยต้องตื่นรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ตลอดจนการจัดการภาครัฐและเครือข่ายประชาคมที่มีความเข้มแข็ง “สำคัญที่สุดคือทำให้เกิดการปฏิบัติและตรวจสอบว่าเกิดการพัฒนาประเทศได้อย่างไร มหาวิทยาลัยไทยต้องเป็นฟันเฟืองที่จะผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ มีทักษะสูง ซึ่งการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะช่วยขับเคลื่อนประเทศผ่านนโยบายและพื้นที่ของประเทศเพื่อเป็นแหล่งเศรษฐกิจและสังคมที่ตอบโจทย์ท้าทายของประเทศ”
ด้านนายสมพร จิตเป็นธม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงตัวชี้วัดใหม่ “Enablers” ที่จะทำให้องค์กรก้าวหน้า มีความพร้อม และเป็นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกัน โดยหน่วยงานต้องเริ่มทำตั้งแต่วางแผน กำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนไปโดยบูรณาการงานในเชิงวัตถุประสงค์ “โอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยดิจิทัลในปีหน้าสามารถจัดหมวดของสิ่งที่ต้องทำได้ 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1) ทำให้เกิดความยั่งยืนโดยเริ่มตั้งแต่วางแผนยุทธศาสตร์ที่ดีและสามารถปรับเปลี่ยนได้ การวัดประสิทธิภาพที่ดี มีมูลค่า-วัฒนธรรมองค์กรที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง มี
ความต่อเนื่องทางธุรกิจและพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อน 2) การจัดการความรู้และนวัตกรรมที่ตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3) การปรับตัวและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างคนให้พร้อมรองรับโลกดิจิทัลและพร้อมก้าวเดินให้ทันสถานการณ์ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ควรเป็นพันธมิตรในการถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อก้าวข้าม VUCA World ไปด้วยกัน”
ขณะที่ รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวให้สอดรับกับการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ สร้างความคุ้นชินให้กับประชาชน เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็วและเชื่อมโยง ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลและภาครัฐพยายามผลักดันแอปพลิเคชันต่าง ๆ และใช้ข้อมูลร่วมกัน จึงต้องมีความเชื่อมโยงหลายระดับ ข้ามหน่วยงานจนถึงระดับประเทศและระดับโลก จึงจะต้องพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ การเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ไปสู่ชุมชนจึงเป็นโจทย์สำคัญของมหาวิทยาลัยไทยที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค เป็นโอกาสดีที่จะใช้ข้อได้เปรียบนี้ในการขับเคลื่อนสังคมโดยใช้เครื่องมือดิจิทัล “มหาวิทยาลัยไทยยังมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยสถาบันคลังสมองจะสนับสนุนเครื่องมือและแนวคิดเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อน ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือบริหารจัดการที่แม่นยำ ทำระบบที่สามารถดึงข้อมูลมาใช้บริหารจัดการได้ทันเวลา สร้างคนที่มีคุณภาพและติดอาวุธทางปัญญาให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกดิจิทัล ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะต้องมีข้อมูลต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเพื่อการวางแผนอย่างบูรณาการ สามารถเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชนและโลกได้”
ปิดท้ายที่ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นประชาคมที่สำคัญของโลกปัจจุบันและโลกอนาคต เป็นแหล่งสำคัญของการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นบุคลากรสำคัญของประเทศ รวมถึงสร้างองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาประเทศและบ่มเพาะการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีชุดข้อมูลความรู้ที่น่าเชื่อถือและถ่ายทอดแก่ประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจและเรียนรู้สิ่งใหม่ เกิดสังคมของความรู้และเป็นที่พึ่งของสังคมไทย “สกสว.พยายามหารือกับเอกชนถึงภาพอนาคต และการพัฒนาเชิงพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ บนฐานของ BCG โดยมีระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหา มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญมากในการเป็นข้อต่อและฟันเฟืองที่จะสร้างความรู้ สามารถบริหารจัดการข้อมูลเพื่อพัฒนาให้เป็นชุดความรู้ที่จะเป็นจุดสำคัญในการเผยแพร่กับหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน นอกจากนี้การลงทุนด้าน ววน.ยังสามารถเชื่อมต่อกันด้วยข้อมูลและชุดความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยและคลัสเตอร์ต่าง ๆ รวมทั้งอยากเห็นการประเมินตนเองของมหาวิทยาลัยว่าใช้ทรัพยากรอย่างไร กระจายความรู้แก่ใครและพื้นที่ใดบ้าง โดยมี สกสว.เป็นผู้หนุนเสริมให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนประเทศอย่างก้าวกระโดด”
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม