คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ถอดบทเรียนสำคัญจากเวทีระดับโลก (UN)
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ถอดบทเรียนสำคัญจากเวทีระดับโลก (UN) ในการเข้าร่วม เป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันผู้ประกอบการด้านธุรกิจจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี เป็นกรรมการคนไทยในการได้รับเชิญเป็นกรรมการในรอบชิงชนะเลิศจากทั่วโลกในครั้งนี้
ถอดบทเรียนสำคัญ จากเวที Youth4South Entrepreneurship Competition at UN ESCAP BANGKOK การแข่งขันผู้ประกอบการด้านธุรกิจจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก สร้างโอกาสเรียนรู้แนวทางการการพัฒนา ของผู้ประกอบการระดับโลก ที่เน้นกลยุทธ์ในการทำงานเพื่อสร้างสิ่งที่ดีต่อสังคมสิ่งแวดล้อมและโลก เร่งต่อยอดความรู้ ปรับหลักสูตรการศึกษา เพื่อยกระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน ผลิตบุคลากรเพื่อโลกอนาคต ตามหลัก SDGs ( Sustainable Development Goals) ขององค์กรสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact)
รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่สถาบันการศึกษาได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในเวทีระดับนานาชาติในครั้งนี้ โดยรวมแล้วผู้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurs) ที่ได้นำเสนอแผนงานโดยมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นเพื่อสร้างผลกระทบที่มีต่อโลกและสังคมในด้านบวกและต้องมีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม พร้อมทั้งนำเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนธุรกิจด้วย ซึ่งผู้เข้าแข่งขันได้โชว์วิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจให้ก้าวสู่ความสำเร็จในระดับโลกพร้อมแสดงให้เห็นถึงจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือสังคม
บทเรียนที่ได้จากการที่ได้เป็นกรรมการตัดสินงานระดับโลกในครั้งนี้คือ การสร้างผู้ประกอบการระดับนานาชาติที่มีจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจที่มิใช่มองหาว่าจะสร้างกำไรได้มากน้อย (Profit-oriented) แต่มองว่าปัญหาของลูกค้าและสังคมคืออะไร (Consumer centric and Solution-oriented) และนำมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างธุรกิจเป็นขั้นต่อไป มุมมองในการสร้างโมเดลทางธุรกิจแบบนี้จะได้เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับในการสร้างบทเรียนทางธุรกิจและการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้นักศึกษา ผู้ประกอบการไทย พัฒนาขีดความสามารถของตนเองเข้าสู่มาตรฐานระดับโลก ซึ่งทาง CBS ได้มีแนวคิดของการสร้างธุรกิจจริงในคณะที่ตามแนวคิดของ Edenterprise ที่ไม่ได้ให้ผู้เรียนได้แค่ความรู้ในห้องเรียนเป็นนิสิตแต่ได้กลายเป็นพนักงานของบริษัท Chula Business Enterprise ที่จะทำให้เรียนและทำงานพร้อมกันตลอดระยะเวลาสี่ปี และแก้ปัญหาเรื่องการจบไปแล้วแต่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน นอกจากนี้บริษัทนี้ที่เกิดขึ้นก็มีนโยบายในการแบ่งผลกำไรคืนสู่สังคม เป็นการส่งเสริมนิสิตให้มีความเป็นผู้ประกอบการพร้อมกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ได้ไปร่วมเป็นกรรมการร่วมกับองค์กรระดับโลกทั้ง UN และ ESCAP ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีความสอดคล้องกับแนวคิดของการพัฒนาผู้ประกอบการระดับโลก ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในไม่ช้าคงจะมีผู้ประกอบการชาวไทยที่ชนะการประกวดงานระดับโลกแบบนี้ในอนาคต
ที่มา: ฮักเดอ