บัญชี CIBA DPU คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 แข่งตอบปัญหาด้านภาษีอากร ผ่านโครงการ”Tax-Challenge 2022″

บัญชี CIBA DPU คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 แข่งตอบปัญหาด้านภาษีอากร ผ่านโครงการ”Tax-Challenge 2022″

บัญชี CIBA DPU คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 แข่งตอบปัญหาด้านภาษีอากร ผ่านโครงการ”Tax-Challenge 2022″  

สมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย จัดการแข่งขันตอบปัญหาภาษีอากร ระดับประเทศ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 “Tax-Challenge 2022” โดยมีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 64 ทีม จากมหาวิทยาลัยภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ เมื่อปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน กรุงเทพฯ สำหรับทีมที่ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ทีมที่ 2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ทีมที่ 2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (ทีมที่ 1) และรางวัลชมเชย 2 ทีม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ทีมที่ 1) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ทีมที่ 1)

ดร.ณัฐพัชร์ นวลมณีฐิต หัวหน้าหลักสูตรการบัญชี และ ผศ.ดร.สุฏิกา รักประสูติ อาจารย์ประจำหลักสูตรการบัญชี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาและควบคุมทีมนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขัน เปิดเผยว่า หลังจากได้รับโจทย์การแข่งขันจากสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย ทีมดูแลได้นำเนื้อหามาทบทวนให้ทีมนักศึกษาของเราที่เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 2 ทีม โดยทีมที่ 1 ประกอบด้วย นายฐนิศร์ หิรัญญานนท์ , น.ส.ปิยนุช ศิริลักษณ์  และ นายปรีชา กิ่งทอง ส่วนทีมที่ 2 ประกอบด้วย น.ส.วรวรรณ ปิ่นอุไร , น.ส.ละอองดาว พันตะคุ และ นายภัทรพงศ์ อุ่นแก้ว

ทั้งนี้โจทย์ในการแข่งขันเป็นเนื้อหาที่นักศึกษาเคยเรียนมาทั้งหมดแล้ว ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทำให้การทบทวนง่ายขึ้น นอกจากนี้อาจารย์ที่ดูแลทีมแข่งขันจะช่วยกันติวให้นักศึกษา 2 สัปดาห์ก่อนลงแข่ง โดยใช้เวลาสัปดาห์ละ 2 วันหลังเลิกเรียน วันละ 6 ชม. และมีสอนแบบออนไลน์ในวันเสาร์ 9 ชม.  โดยก่อนการแข่งขันไม่กี่วัน ได้สรุปเนื้อหาทั้งหมดมาให้นักศึกษาลองทำข้อสอบ ซึ่งทั้ง 2 ทีมทำข้อสอบได้ดีมาก

“นักศึกษาทั้ง 2 ทีม มีความขยันและมีความตั้งใจสูง ที่สำคัญมีความผิดชอบมาก อีกทั้งยังช่วยเหลือกันแบ่งงานกันอย่างเหมาะสม จึงทำให้ทีมที่ 1 ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ส่วนทีมที่ 2 แม้ไม่ได้รางวัลแต่ได้เข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย ซึ่งทีมนี้เด็กเก่งเหมือนกันแต่อาจจะมีความกังวลในช่วงสอบรอบสุดท้ายจึงทำให้พลาดไป อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงนักศึกษาที่อยากเข้าร่วมแข่งขันในครั้งหน้า วิชาภาษีแม้เป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำให้มองว่าเป็นเรื่องง่าย เมื่อมองว่าง่ายจะมีความรู้และมีใจรักในภาษี ทำให้มีแรงผลักดันที่อยากลงแข่งขันในสนามนอกรั้วมหาวิทยาลัยและมีแรงจูงใจให้ก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น” ผศ.ดร.สุฏิกา กล่าวทิ้งท้าย

นายฐนิศร์ หิรัญญานนท์ (ไนท์) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรการบัญชี วิทยาลัย CIBA ตัวแทนผู้เข้าแข่งขันทีมที่ 1 กล่าวว่า ในทีมจะแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบตามหัวข้อที่ตนเองถนัด ซึ่งใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 2 เดือน ในส่วนของอาจารย์จะช่วยติวเพิ่มเติมให้ในแต่ละหัวข้อซึ่งท่านช่วยได้เยอะมาก โดยทั้ง 2 ทีมคุยกันไว้ว่าการแข่งขันครั้งนี้ตั้งใจจะไม่พลาด จึงอ่านหนังสือกันทุกวันและคอยโทรไปเตือนเพื่อนทุกครั้ง ส่วนบรรยากาศช่วงแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะสอบแบบปรนัย ซึ่งพวกเราทั้ง 2 ทีมทำข้อสอบแบบไม่รู้สึกกดดัน ส่วนช่วงที่ 2 สอบแบบอัตนัยมีเวลาจำกัดน้อยมากทำให้รู้สึกกดดัน เพราะช่วงติวเราเน้นอ่านและทำข้อสอบแบบปรนัย  ปีหน้าอยากชวน น้อง ๆ หรือเพื่อนๆ ลองเข้ามาสมัครลงแข่งขัน เพราะจะทำให้ได้ประสบการณ์และความรู้มากกว่าในห้องเรียน ที่สำคัญประสบการณ์เรื่องภาษีมีความจำเป็นมากในสายงานบัญชี ในการทำงานและในอนาคตได้นำไปใช้แน่นอน

นางสาวละอองดาว พันตะคุ (แป้ง) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรการบัญชี วิทยาลัย CIBA ตัวแทนผู้เข้าแข่งขันทีมที่ 2 กล่าวว่า นักศึกษาทั้ง 2 ทีมเคยลงแข่ง โครงการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชีระดับมหาวิทยาลัยครั้งที่ 15 จัดโดยสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ซึ่งการสอบครั้งนั้นมี 2 รอบเหมือนกัน แต่ข้อสอบเป็นปรนัยทั้งหมด จึงคิดว่าการสอบครั้งนี้น่าจะเป็นแบบเดียวกัน จึงทำให้ในช่วงติวกับเพื่อนไม่ได้ซ้อมตอบแบบเขียน ทำให้เมื่อสอบรอบ 2 รู้สึกตื่นเต้นกดดันและอ่านโจทย์ไม่ครบจนทำให้เสียคะแนนไป ดังนั้นประสบการณ์ครั้งนี้สอนให้รู้ว่า ไม่ควรพลาดจุดเล็ก ๆ ในโจทย์ต้องอ่านและตรวจทานให้ละเอียด ส่วนการแบ่งหน้าที่ในทีมต้องชัดเจนกว่านี้

“การแข่งขันครั้งนี้ แข่งขันเรื่องเดียว คือ เรื่องภาษีและระบุหัวข้อชัดเจน ในทีมแบ่งกันอ่านคนละตัวไม่ให้ซ้ำกัน ส่วนอาจารย์ติวให้ดีมาก แต่ทีมมาพลาดกันเอง จึงรู้สึกเสียดายมาก แต่เราได้ทำเต็มที่แล้ว ดังนั้นจึงอยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่มีโอกาสได้ลงแข่งต้องอ่านและต้องทำความเข้าใจเรื่องภาษีให้มากขึ้น เพราะโจทย์จะเน้นถามถึงความเข้าใจ ในขณะติวกับอาจารย์สงสัยจุดไหนให้รีบถามให้เข้าใจสำหรับข้อดีของการลงแข่งขันได้ความรู้เรื่องภาษีซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสายอาชีพบัญชี รวมถึงการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และความรอบคอบ ถ้าใครมีโอกาสอยากให้ลงแข่งเพราะได้ประสบการณ์เยอะมาก” นางสาวละอองดาว กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ