ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย แสดงจุดยืนผลักดันแนวคิดกรีนชิปปิ้งแก่คณะนักศึกษา คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เนื่องในวันทางทะเลโลก
บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเรือชั้นนำในประเทศไทย แสดงจุดยืนเพื่อผลักดันแนวคิดสำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่คณะนักศึกษา ในโอกาสที่ได้รับเกียรติจากคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เข้าร่วมพิธีแต่งเครื่องแบบและประดับเครื่องหมายชั้นปี ประจำปี 2565 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี โดย มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “เทคโนโลยีใหม่สำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธุรกิจท่าเทียบเรือในระบบซัพพลายเชน ตลอดจนการลงทุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในธุรกิจ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าทางทะเล และการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคการเดินเรือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ให้โอกาสเราเป็นส่วนหนึ่งในพิธีแต่งเครื่องแบบ ประดับเครื่องหมายชั้นปี ประจำปี 2565 ให้แก่นิสิตในปีนี้ ซึ่งวันนี้ยังตรงกับวันทางทะเลโลกอีกด้วย นอกจากมหาวิทยาลัยฯ จะอยู่ในบริเวณใกล้กับท่าเรือแหลมฉบังแล้ว คณะพาณิชยนาวีนานาชาติยังมีชื่อเสียงในเรื่องการส่งเสริมการศึกษาด้านทางทะเล และยังเป็นศูนย์รวมของผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความสามารถ มีความรู้ ความชำนาญ สามารถผลิตนิสิตสู่ภาคธุรกิจท่าเทียบเรือ และภาคการขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง เรามั่นใจว่านิสิตทุกคน มีความภูมิใจมากที่ได้ร่วมพิธีแต่งเครื่องแบบประดับเครื่องหมายชั้นปีในโอกาสพิเศษนี้ เพื่อพัฒนาตนและเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ในเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ร่วมกับ คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคีทางวิชาการ (MOA) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการทำวิจัย การเรียนการสอน การฝึกงาน การศึกษาดูงาน และการสนับสนุนต่าง ๆ ด้านอาชีพสำหรับนักศึกษาในอุตสาหกรรมท่าเทียบเรือ
โดยปีนี้ เรื่องของ “เทคโนโลยีใหม่สำหรับธุรกิจการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ได้ถูกยกให้เป็นประเด็นซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคการเดินเรือสู่อนาคตอย่างยั่งยืน โดยแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมทางทะเล การวิจัยและพัฒนา และการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในธุรกิจ
“หลายปีที่ผ่านมาเราได้ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนโดยเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือและป้องกันทั้งพนักงานและชุมชน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งสามด้านของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคการขนส่งทางทะเล อย่างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันในการเปิดเผยข้อมูล ให้ความรู้ และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนภาคการเดินเรือให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” มร. สตีเฟ้นท์ กล่าวปิดท้าย
ที่มา: สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์