วช. พาส่อง ไอเดีย “แอพพลิเคชัน วิ่ง สุดอัจฉริยะ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 66”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เพื่อคัดเลือกเข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 ซึ่งในปีนี้ผลงาน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น “แอพพลิเคชันวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเชิงกีฬา” โดย รศ.ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ และ นายปรมัตถ์ จรัสดำรง แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด
นายปรมัตถ์ จรัสดำรง แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล ทีมนักประดิษฐ์ เปิดเผยว่า แอพพลิเคชันวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเชิงกีฬา เป็นระบบ Computer vision (CV) โดยการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการตรวจจับการวิเคราะห์ลักษณะการวิ่งของผู้ใช้งาน ซึ่งภายในแอพพลิเคชันจะทำการบันทึกการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานนำไปสู่การประมวลผลลักษณะการวิ่งของผู้วิ่งเพื่อปรับท่าวิ่งให้ถูกลักษณะ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง เหมาะแก่การวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางการกีฬาที่สามารถใช้งานบนโทรศัพท์มือถือที่มีขนาดกะทัดรัดและสามารถพกพาได้สะดวก ซึ่งหลักการทำงานของแอพพลิเคชันดังกล่าวผู้วิ่งต้องทำการลงทะเบียนและติดตั้งแอพพลิเคชัน และตั้งกล้องให้เป็นลักษณะตั้งตรง ระบบจะสร้าง Spatial skeleton ขึ้นมาเสมือนเป็นกระดูกของผู้วิ่งแบบดิจิทัล เพื่อจำลองตำแหน่งส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวเมื่อครบ 10 วินาทีจะมีเสียงส่งสัญญาณแจ้งเตือน หลังจากทำการวัดส่วนสูง ระบบจะส่งเสียงนกหวีดส่งสัญญาณแจ้งเตือนหนึ่งครั้ง ให้ผู้วิ่งเริ่มทำการวิ่ง โดยให้ผู้วิ่งทำการวิ่งอยู่กับที่ตามปกติจนกว่านาฬิกาจับเวลาจะหมดลง เมื่อเวลาหมดลงระบบจะทำการส่งสัญญาณเตือนอีกครั้งเพื่อบอกให้ผู้วิ่งหยุดวิ่ง และรายงานผลลักษณะชีวกลศาสตร์ที่ได้จากการวิ่ง โดยที่แอพพลิเคชั่นสามารถวิเคราะห์ลักษณะชีวกลศาสตร์ได้ 3 ส่วน ได้แก่ 1) Vertical displacement of the center of mass 2) Trunk Lean 3) Tibia angle at a loading response ซึ่งผู้วิ่งและโค้ชสามารถนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์และประมวลผลดังกล่าวไปช่วยเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้รับชัยชนะให้ดียิ่งขึ้น นับเป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้นในการเก็บวิเคราะห์และคำนวณผลข้อมูลสารสนเทศที่แม่นยำและในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบแอพพลิเคชันให้ดียิ่งขึ้นและตอบโจทย์ต่อผู้ใช้งานต่อไป
ซึ่งแอพพลิเคชันวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเชิงกีฬา เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านของวิทยาศาสตร์การกีฬาในการวิเคราะห์หลักชีวกลศาสตร์ การประมวลผลข้อมูลจากสื่อภาพและวิดีโอ ทักษะการเขียนโปรแกรมและการพัฒนาแอพพลิเคชันมือถือในการวิเคราะห์หลักชีวกลศาสตร์ท่าวิ่งเพื่อประโยชน์ทางการกีฬาในการส่งเสริมและสนับสนุนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการเล่นกีฬาสู่นักกีฬามืออาชีพในระดับประเทศ
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ