สิทธิเด็ก เรื่องของเด็กและเยาวชนที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

สิทธิเด็ก เรื่องของเด็กและเยาวชนที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

เพราะเป็นเด็กจึงถูกมองข้ามและเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้น เด็กๆ เองควรรับรู้ถึงสิทธิของตนเอง และโดยเฉพาะผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก ยิ่งจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก ทุกคนควรหันมาตระหนัก และให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเด็กอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคุมประพฤติ จังหวัดสมุทรปราการ จัดกิจกรรม “โครงการเผยแพร่ให้ความรู้ทางกฎหมายด้านการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และป้องกันการละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิ สร้างโอกาส กับครอบครัวโสสะ” ณ โรงแรมคูณ จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดงานจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มี คุณพงค์พันธ์ ผุดผ่อง พนักงานคุมประพฤติชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มอำนวยความยุติธรรมและนิติการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และในกิจกรรมครั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก คุณปาณิสรา สลากรธนวัฒน์ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลบางปู ร่วมสนับสนุนกิจกรรมโครงการสิทธิเด็ก และพาน้องๆ เข้าร่วมโครงการการปกป้องสิทธิ สร้างโอกาส กับครอบครัวโสสะในครั้งนี้ด้วย

โดยโครงการและกิจกรรมในครั้งนี้ มีเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป ทั้งเยาวชนจากหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู สมุทรปราการ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ และสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลบางปู พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของทางมูลนิธิเด็กโสสะฯ เข้าร่วมในครั้งนี้ รวมประมาณ 100 คน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายด้านสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพและป้องกันการละเมิดสิทธิเด็ก ให้ทุกคนเกิดความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
  2. เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเด็กได้รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ตามหลักสิทธิมนุษยชน
  3. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่และวิทยากร เพื่อส่งเสริมการพัฒนางานของมูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

และในกิจกรรมโครงการตลอดทั้งวันได้รับเกียรติ จาก คุณวาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย เป็นวิทยากร และทำกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ เกิดความตระหนักรู้ในสิทธิของตนเองที่พึงมี โดยกิจกรรมจะเน้นไปในทางที่สามารถเข้าถึงเด็กๆ ได้ดีผ่านงานศิลปะอย่างการวาดรูปเพื่อสื่อสารสิ่งที่เด็กๆ รู้สึกนึกคิดออกมาเป็นการสะท้อนความสุขความทุกข์ สถานการณ์ความเป็นอยู่ที่เด็กๆ ได้รับ ว่าเหมาะสมสอดคล้องกับสิทธิเด็ก ที่น้องๆ พึงได้รับแล้วหรือยัง เพราะเด็กมิใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เด็กถือเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ที่ทุกคนต้องมีส่วนในการกำหนดและรับผิดชอบร่วมกัน  เพราะเด็กทุกคนมีสิทธิที่ควรได้รับมาตั้งแต่เกิดในฐานะความเป็นมนุษย์เช่นกับทุกคน โดยเน้นย้ำไปที่สิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UN Convention on the Rights of the Child: CRC) มี สิทธิเด็ก 4 ประการขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ ดังนี้

1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Rights of Survival)

คือสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม

2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Rights of Development)

คือสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐาน ความเป็นอยู่และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย  รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะความสามารถตามศักยภาพของตนเอง เพื่อให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต 

3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Rights of Protection)

คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกล่วงละเมิดและการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ 

4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Rights of Participation)

คือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้การดูแลเด็กบนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิเด็ก เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนควรเติบโตด้วยความรัก ด้วยความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยปกป้อง และหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นพลเมืองที่ช่วยพัฒนาสังคมต่อไป  

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เด็กๆ ที่ขาดโอกาสได้รับการปกป้องคุ้มครอง และเติบโตขึ้นภายในครอบครัวโสสะอันอบอุ่น

https://www.sosthailand.org/donate-now

ที่มา: มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ