กสศ. ผนึกกำลัง 9 สถาบันผลิตและพัฒนาครู ลงนาม MOU สร้าง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 4’ มุ่งผลิต ครูรุ่นใหม่แก้ปัญหาครูโยกย้าย พร้อมสร้างคุณภาพการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อลงนามความร่วมมือและพัฒนาแนวทางการทำงานระหว่าง กสศ. กับสถาบันผลิตและพัฒนาครู 9 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ เดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2566 ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.) ที่มุ่งมั่นสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาส ซึ่งมีศักยภาพและมีใจรักอยากเป็นครูให้ได้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษา และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเป็นชุมชนบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและการโยกย้าย โดยคาดหวังว่านักศึกษาผู้รับทุนจะได้รับการบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครู และเป็นนักพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพสอดคล้องกับโจทย์การทำงานในท้องถิ่น
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โจทย์ท้าทายที่ทุกท่านมาร่วมกันทำงานครั้งนี้ คือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การจะนำคนในท้องถิ่นออกมาพัฒนาให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยาก หรือการส่งคนนอกเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ทุรกันดารก็จะพบปัญหาการโยกย้ายกลับถิ่นฐานของบุคลากร ซึ่งทำให้ขาดความยั่งยืนและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการนวัตกรรมที่ดำเนินการด้วยแนวคิดสำคัญคือ การพัฒนาชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง โดยให้โอกาสกับเยาวชนที่มุ่งมั่นอยากเป็นครูให้มาเข้ารับการเรียนรู้ฝึกฝนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในท้องถิ่น
ดร.ดนุช กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยที่ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพ ทั้งความเป็นผู้นำด้านวิชาการของภูมิภาค รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยการวิจัยและการบริการวิชาการอย่างสร้างสรรค์ เรียกว่าเป็นสถาบันต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูระบบปิด คือการสร้างครูลักษณะเฉพาะลงในพื้นที่เฉพาะ ในกรณีนี้คือการผลิตครูเพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร การปลูกฝัง DNA ของนักพัฒนาชุมชนร่วมไปกับการพัฒนาทางวิชาการที่ทันสมัย นวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้นแบบต้องร่วมมือกันโดยใช้ความเชี่ยวชาญของการเป็นสถาบันการอุดมศึกษา ความเป็นเลิศด้านวิชาการในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบตามหลักวิชาการ เพื่อยืนยันผลผลิตและพัฒนาครูระบบปิด ตั้งแต่กระบวนการค้นหาคัดกรองที่มีมาตรฐาน การนำเยาวชนในชุมชนที่มีศักยภาพและความมุ่งมั่นมาเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา 4 ปี ด้วยหลักสูตรที่แต่ละมหาวิทยาลัยออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองชุมชน และจะต้องบรรจุทำงานที่บ้านเกิดเป็นระยะเวลา 6 ปี เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของงานวิจัยระยะยาวเพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการผลิตและพัฒนาครูทางเลือกที่มีศักยภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการผลิตและพัฒนาครูระบบปิดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตัดวงจรการขาดแคลนครู และเพิ่มอัตราการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพบนฐานแนวคิดที่ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า ปัจจุบัน กสศ. มอบโอกาสให้นักเรียนมาแล้ว 3 รุ่น จำนวน 865 คน สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4 มีนักเรียนทุน 327 อัตรา จาก 324 โรงเรียนปลายทางใน 43 จังหวัด และปี 2566 รุ่นที่ 5 โครงการฯจะรับนักเรียนทุนอีก 310 อัตรา เมื่อรวมกับรุ่น 1-4 แล้ว จะได้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น 1,500 คน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสถาบันผลิตและพัฒนาครูทุกแห่งที่ร่วมเป็นเครือข่ายทำงานกำลังเป็นผู้สร้างและก่อความเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและพัฒนาครูครั้งสำคัญ ซึ่ง กสศ. เชื่อว่าด้วยพลังของทั้ง 18 สถาบัน จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่จริง สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการผลิตและพัฒนาครูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เห็นอย่างชัดเจน
“กระบวนการต้นน้ำ คือสถาบันแต่ละแห่งมีนวัตกรรมการค้นหาคัดเลือกเพื่อให้ได้นักศึกษาตรงคุณสมบัติ กลางน้ำ คือหลักสูตรซึ่งสถาบันจัดเตรียมไว้เพื่อให้ตอบสนองตามหลักคิดและแนวทางของโครงการซึ่งลงรายละเอียดถึงเด็กเป็นรายคน และตามความแตกต่างของลักษณะพื้นที่แต่ละแห่ง ส่วนปลายน้ำ คือปลายทางที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นจะไปบรรจุ ที่สถาบันผลิตและพัฒนาครูได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อพัฒนาทั้งโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมกัน ด้วยหลักสูตรเฉพาะทางหรือ Enrichment Program ที่จัดเตรียมความพร้อมของครูไว้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนของตนเอง เมื่อครูกลุ่มนี้เรียนจบเขาจึงพร้อมทำงานทันที พร้อมพัฒนาโรงเรียนและสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น เราเชื่อว่าครูคุณภาพสูงคนหนึ่ง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลให้กับพื้นที่ ดังนั้นเมื่อเรามีครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจการจัดการศึกษาและพัฒนาชุมชนถึง 1,500 คน ย่อมหมายถึงโอกาสเข้าถึงการศึกษาคุณภาพของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศในอนาคต”
รศ.ดร.ดารณี กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า หน้าที่หลักของ กสศ. คือการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยโจทย์หนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ กสศ. ทำตั้งแต่ปี 2562 คือการทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนตามแนวชายแดน โรงเรียนบนพื้นที่เกาะ หุบเขา หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งมีปัญหาเรื่องอัตรากำลังครู ทั้งจากการไม่มีครูเลือกบรรจุทำงาน หรือมีครูขอโยกย้ายออกปีละจำนวนมาก จนเป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่ยังไม่สามารถส่งเสริมให้เด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้
ดร.ไกรยส กล่าวเสริมว่า โครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ในความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน มุ่งแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และตอบโจทย์ที่สำคัญของ กสศ. คือ สนับสนุนให้เกิดสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู โดยร่วมกันพัฒนาแนวคิดเพื่อผลิตและพัฒนาครูด้วยวิธีและนวัตกรรมที่เหมาะกับโจทย์ในระดับพื้นที่ นำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายตั้งแต่ต้นทางของระบบการศึกษา เพื่อลดปัญหาการโยกย้ายและสร้างคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลด้วย 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1) สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสในพื้นที่ห่างไกลให้ได้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 2) พัฒนาและปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพสูงของสถาบันผลิตและพัฒนาครู 3) พัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางที่บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นจะเข้าไปปฏิบัติงานหลังจบการศึกษา เชื่อว่าในอีกไม่นานนักศึกษาและบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่น จะนำความรู้จากหลักสูตรใหม่ และประสบการณ์จากโครงการที่สถาบันต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูถ่ายทอดไปใช้ประโยชน์ และส่งต่อโอกาสให้เด็กในพื้นที่ได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเพื่อลดวงจรความขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กสศ. มีสถาบันผลิตและพัฒนาครู จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์