จุฬาฯ เดินหน้าส่งเสริม Futures Literacy ใช้ทักษะอนาคตเพื่อสร้างปัจจุบันที่ดีกว่า
จุฬาฯ จับมือ UNESCO บ่มเพาะผู้นำแห่งอนาคตด้วยทักษะ Futures Literacy สร้างโลกที่ดีขึ้นในปัจจุบัน ตอกย้ำความเป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่นำการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้อย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21
“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้วในวันนี้ โลกพูดกันมากขึ้นถึง Futures Literacy ทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้น “จินตนาการ” ถึงอนาคตที่ดีขึ้นและดีกว่า
“We use the future to innovate the present. เมื่อเราสามารถคาดการณ์ถึงอนาคตได้ เราก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สร้างปัจจุบันที่ดีได้ จินตนาการทำให้เกิดความหวังในใจของมนุษย์ ความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนแรงผลักดันในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จินตนาการจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เสมอ” รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย Global Chief Innovation Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างงานประชุมวิชาการนานาชาติรูปแบบออนไลน์ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” ที่จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นร่วมกับ UNESCO และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อไม่นานมานี้
Futures Literacy ทักษะสำคัญฝ่าวิกฤตโลก
โลกทุกวันนี้ผันผวนปั่นป่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกภายหลังยุคโควิด-19 ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ การเดินทางและโลจิสติกส์ ความมั่นคงทางอาหาร การเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ความขัดแย้งทางการเมือง การกดขี่และเหยียดเชื้อชาติ ฯลฯ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในความกลัว ความสิ้นหวัง ไร้ซึ่งจินตนาการถึงอนาคต
“มนุษย์ยังคงต้องการจินตนาการแห่งความหวัง ทักษะ Futures Literacy จึงเป็นทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยเสริมพลังการจินตนาการและเพิ่มความสามารถในการเตรียมตัวรับมือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น” Reil Miller ผู้เชียวชาญทางการคิดและจินตนาการเพื่ออนาคต กล่าว องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization; UNESCO) ได้ริเริ่มโครงการ UNESCO Futures Literacy และสร้างเครือข่าย UNESCO Global Futures Literacy Network ในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายนี้ตั้งแต่ปี 2563 (2020) และเดินหน้าส่งเสริมความเข้าใจเรื่อง Futures Literacy ในประชาคมจุฬาฯ มาโดยตลอด
Futures Literacy คืออะไร
UNESCO นิยาม Futures Literacy ว่าเป็นทักษะการใช้ความรู้คิดและจินตนาการในการคาดการณ์ถึงโอกาส ทางเลือก และความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบนพื้นฐานของความรู้และความเป็นจริง
“ทุกคนสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะนี้ได้ ไม่ต่างจากทักษะการรู้อ่านเขียน เพราะการคิดและจินตนาการเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ ทักษะนี้จะทำให้เราสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจะวางแผนกลยุทธ์รับมือและจัดการสิ่งที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้น จัดลำดับความสำคัญและตัดสินใจลงมือทำได้ดีขึ้น” รศ.ดร.ณัฐชา กล่าว
ผู้ที่ตระหนักและฝึกฝนทักษะนี้จะมีศักยภาพในการเห็นทางเลือกที่หลากหลาย มีความหวังและแรงบันดาลใจลงมือกระทำการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน
จุฬาฯ บ่มเพาะ Futures Literacy ให้นิสิตอย่างไร
รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวถึงแนวทางการบ่มเพาะทักษะ Futures literacy ในรั้วมหาวิทยาลัยว่าการเสริมพลังและขยายกรอบจินตนาการของมนุษย์อย่างไร้ขีดจำกัดต้องการ “วิธีการใหม่ๆ” และ “ความร่วมมือข้ามความแตกต่าง” ทั้งต่างสาขาวิชา วัฒนธรรม วัย อาชีพ ฯลฯ เหตุนี้ จุฬาฯ จึงตั้ง CU Innovation Hub และ CU Social Innovation Hub เป็นต้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาวิจัยข้ามสาขาวิชา (cross-disciplinary platform) ที่นิสิตและนักวิจัยจากต่างคณะและต่างสาขา มาร่วมกันสร้างจินตนาการ ตั้งโจทย์ใหม่ๆ และหาแนวทางหรือนวัตกรรมเพื่อแก้โจทย์ในปัจจุบันและอนาคต
“การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจะทำให้นิสิตได้ความคิดและมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ตราบใดที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้นิสิตได้ทดลองและทดสอบ โดยที่พวกเขาไม่ต้องกลัวว่าผลจะออกมาดีหรือไม่ เพราะความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เป็นบทเรียนให้นิสิตได้คิดหาหนแนวทางที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก”
ด้วยบรรยากาศที่ส่งเสริมจินตนาการ สนับสนุนความกล้าลงมือทำและยอมรับความผิดพลาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากมาย เช่นปีที่ผ่านมา จุฬาฯ หนุนมากกว่า 304 ทีมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม อาทิ วัคซีนโควิด-19 จากใบยาโดยบริษัท Baiya Phytopharm Co., Ltd. แอปพลิเคชัน ViaBus แอปติดตามรถโดยสารแบบเรียลไทม์อำนวยความสะดวกกับผู้เดินทาง Tann:D ทานดีเส้นโปรตีนจากไข่ขาว พลังงานต่ำ ไร้แป้งและกลูเตน SOPet (เอส โอ เพ็ท) คลินิกสัตวแพทย์ออนไลน์
Futures Literacy เป็นทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมให้นิสิตและประชาคมจุฬาฯ ฝึกฝนเพื่อนำจินตนาการในอนาคตมาสร้างปัจจุบันที่ดีขึ้น นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังใช้กระบวนทัศน์การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 อาทิ การคิดเชิงวิพากษ์ การสร้างความร่วมมือ ความเป็นผู้ประกอบการ ฯลฯ มาสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ทั้งนิสิต ประชาคมจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างผู้นำแห่งอนาคตที่จะรังสรรค์การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
“จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยวิจัย Research University ที่สอนและสนับสนุนการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ผ่านบริษัทนวัตกรรม งานวิจัย และการศึกษา ที่แก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับโลก” รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวสรุปทิ้งท้าย
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย