“5 ปี มูลนิธิใบไม้ปันสุข” โดยบางจากฯ มุ่งสนับสนุนการศึกษาและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนต่อเนื่อง ต่อยอดจากความสำเร็จที่ผ่านมา ครอบคลุมเด็กและเยาวชนกว่า 15,000 คน
“5 ปี มูลนิธิใบไม้ปันสุข” โดยบางจากฯ มุ่งสนับสนุนการศึกษาและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนต่อเนื่อง ต่อยอดจากความสำเร็จที่ผ่านมา ครอบคลุมเด็กและเยาวชนกว่า 15,000 คน จากสถานศึกษาในเครือข่ายเกือบ 200 แห่ง ใน 52 จังหวัดทั่วประเทศ
ในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการก่อตั้ง “มูลนิธิใบไม้ปันสุข” โดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาการศึกษา สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals เป้าหมายที่ 4 Quality Education โดยเริ่มดำเนินกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ผ่านโครงการต่างๆ ครอบคลุมเยาวชนกว่า 15,000 คน จากสถานศึกษาเกือบ 200 แห่ง ใน 52 จังหวัดทั่วประเทศ มูลนิธิฯ จัดแถลงข่าวในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน 2565 ประกาศเป้าหมายเดินหน้าผลักดันคุณภาพชีวิตเยาวชนไทยต่อเนื่องผ่าน 3 โครงการสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม และประชาสัมพันธ์มูลนิธิฯ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงเชิญชวนผู้สนใจทั่วไปร่วมสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิฯ ผ่านการบริจาคในรูปแบบต่างๆ ทั้งการดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ การบริจาคคะแนนสมาชิกบัตรน้ำมันบางจาก และการรับบริจาคผ่าน กล่องปันสุข กล่องรับบริจาคในร้านอินทนิล
จากความมุ่งมั่นของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและสังคมไทยมาตลอดการดำเนินธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2560 จึงได้สนับสนุนทุนตั้งต้นในการก่อตั้ง “มูลนิธิใบไม้ปันสุข” เป็นจำนวนกว่า 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชน ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ พร้อมสร้างจิตสำนึก ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ให้เด็กได้เรียนรู้และลงมือทำด้วยตนเอง อาทิ โครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว ที่มุ่งฝึกทักษะการอ่าน เขียน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการศึกษา และ โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ จัดตั้ง 8 สถานีเรียนรู้ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อจัดการขยะ โดยได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาในเครือข่ายเกือบ 200 แห่ง ใน 52 จังหวัดทั่วประเทศ และมอบโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เยาวชนไปแล้วกว่า 15,000 คน
นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ประธานมูลนิธิใบไม้ปันสุข กล่าวว่า มูลนิธิใบไม้ปันสุข เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 ด้วยวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการเรียนรู้และลงมือทำเพื่อให้เยาวชนอ่านออกเขียนได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยเริ่มจากประเด็นที่เป็นรากฐานการศึกษา ให้ความสำคัญของการอ่านออก-เขียนได้ของเด็ก ๆ เพราะนั่นคือก้าวแรกที่สำคัญของการเรียนรู้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาโครงการอื่น ๆ ตามมา เพื่อพัฒนาทักษะและพฤติกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีปลายทางคือสร้างสังคมที่มีความสุข โดยมูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความเชื่อ หลักการ วิธีทำงาน ที่คล้ายกัน ทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้สมบูรณ์แบบขึ้น ได้แก่ ทุ่งสักอาศรม บมจ. เอสซีจี เคมิคอลส์ และมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ มีความเชี่ยวชาญและพัฒนากิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อต่อยอดงานร่วมกับพันธมิตรได้อย่างน่าสนใจและแข็งแรงขึ้น โดยในวันนี้ ซึ่งเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เป็นโอกาสที่ดีที่จะประชาสัมพันธ์โครงการสำคัญทั้ง 3 โครงการได้แก่ “โครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋วเป็นเด็กแจ๋ว” “โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” และ “โครงการโซลาร์ปันสุข” ให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงเชิญชวนสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิฯ ผ่านการบริจาคในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ไลน์การบริจาคคะแนนบัตรสมาชิกบางจาก และการรับบริจาคที่กล่องปันสุขในร้านอินทนิล อีกด้วย
นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า “บางจากฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว การก่อตั้งและดำเนินการมูลนิธิใบไม้ปันสุขถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่จะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากกิจการเพื่อสังคมในระดับประเทศและกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เรายิ่งมุ่งเน้นสร้างรากฐานของความยั่งยืนคือการพัฒนาเยาวชนทั้งในด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ เป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals เป้าหมายที่ 4 Quality Education เป็นเป้าหมายหลัก และขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่อง เป้าหมายที่ 13 Climate Action เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและนโยบายชาติตามโมเดล BCG Economy โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้ให้แนวทางในการทำงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรมากมาย ที่สำคัญคือการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารและเพื่อนพนักงานในกลุ่มบริษัทบางจาก ทั้งในรูปแบบของคำแนะนำ การช่วยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบและการสละเวลามาร่วมเป็นพี่เลี้ยงอาสาเพื่อช่วยให้คำแนะนำและติดตามความคืบหน้าโครงการ เป็นไปตามวัฒนธรรมพนักงานของเราคือ ‘เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น’
หนึ่งในความภาคภูมิใจของบางจากฯ และมูลนิธิฯ คือโครงการ “อ่านเขียนเรียนสนุก” ของมูลนิธิใบไม้ ปันสุขได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2021 ประเภท Investment in People และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลระดับโลก S&P Global 2020 ประเภท Corporate Social Responsibility Award – Targeted แสดงถึงความสำเร็จของโครงการที่มีความโดดเด่นในด้านความรับผิดชอบ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นกำลังใจให้พวกเรามุ่งมั่นผลักดันโครงการดี ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย
กลุ่มบริษัทบางจาก มีการตั้งเป้าสำคัญด้านความยั่งยืน คือ การมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 โดยมีเป้าหมายแรกคือเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 ผ่านแนวคิด BCP316 NET ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ผ่านมูลนิธิใบไม้ปันสุข ถือเป็นหนึ่งในแผนงานด้าน NET คือการสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับ Net Zero หรือ Net Zero Ecosystem เพราะกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ในสังคมหรือชุมชนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเยาวชนในสังคมนั้นมีรากฐานด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมที่ไม่แข็งแรง ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่มาร่วมมือกับบางจากฯ และมูลนิธิฯเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีของเยาวชนไทยของเรา นำไปสู่ความยั่งยืนในแง่มุมอื่น ๆ ต่อไป”
อาจารย์ในดวงตา ปทุมสูติ นักวิชาการจากศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ที่เดินทางเป็นวิทยากรอบรมครูทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากว่า 10 ปี กล่าวว่า “ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทั้งด้านการศึกษาและสังคม จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาทั่วประเทศ ทั้งในเมืองใหญ่และพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีทั้งเด็กที่ใช้ภาษาถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย พบว่าแต่ละโรงเรียนล้วนมีทั้ง “เด็กที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” และ “เด็กที่อ่านออก-แต่เขียนไม่ได้” สาเหตุสำคัญมาจาก หลักสูตรที่ขาดความยืดหยุ่นและเข้าใจในบริบทอันแตกต่าง การให้ความสำคัญในวิชาภาษาไทยของผู้บริหารและครู รวมถึงประสบการณ์และทักษะการสอนภาษาไทยของครู ป.1 ดังนั้น ทุ่งสักอาศรมและมูลนิธิใบไม้ปันสุขจึงได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนในการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก ๆ โดยเริ่มจากสร้างความตระหนักและความเข้าใจในวิถีการสอนภาษาไทยให้แก่ผู้บริหารและครู ตลอดจนลงลึกสู่กระบวนการสอนที่แม่นตรงอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามแนวทาง บันไดทักษะ 4 ขั้น ของทุ่งสักอาศรม โดยทางมูลนิธิใบไม้ปันสุข ได้สนับสนุนการดำเนินงานและสื่อการสอน เพื่อให้ครูในโครงการใช้เป็นเครื่องมือในการสอนภาษาไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ทั้งป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหา ทั้งยังมีการทดสอบที่ใช้วัดผลท้ายชั่วโมงที่สอนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย แต่ในสถานการณ์โควิดทำให้ยิ่งมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ต้องมีการปรับรูปแบบและเวลาในการดำเนินโครงการให้ใกล้ชิดและสอดคล้องกับเหตุปัจจัยมากขึ้น”
ในด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิใบไม้ปันสุข ร่วมกับ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และกลุ่มบริษัทบางจาก ได้จัดทำโครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ โดยมีพันธกิจในการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียงและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากสิ่งรอบตัว ผ่าน 8 สถานีเรียนรู้ ได้แก่ สถานีธนาคารขยะ สถานีกล่องนม-ถุงนมกู้โลก สถานีน้ำมันพืชใช้แล้ว สถานีใบไม้ปันสุข สถานีเรือนวัสดุและหลัก 3R สถานีพอ พัก ผัก สถานีน้ำหมักชีวภาพ และสถานีถังหมักรักษ์โลก โดยหวังสานต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้าน Climate Action นำพาสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรก หลังดำเนินงานกับโรงเรียน 35 แห่ง ได้คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลแล้วกว่า 6,000 กิโลกรัม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 17,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
โดยนายกฤษดา เรืองโชติวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ESG บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ให้ความสำคัญกับเรื่อง Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SCGC โดยได้ผนวกกับการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเล็งเห็นว่ากุญแจสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังจิตสำนึก และสร้างพฤติกรรมในการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้คุ้มค่าสูงสุด ความร่วมมือกับมูลนิธิใบไม้ปันสุข และกลุ่มพันธมิตรในการดำเนินโครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของโครงการฯ มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 18 จังหวัด ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อทราบพฤติกรรม ความคิดเห็นและกระบวนการจัดการขยะของโรงเรียน นำมาสู่การระดมความคิด กำหนดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ออกแบบการทำงาน และพัฒนาต่อยอดร่วมกัน โดยมีผู้บริหารและนักเรียนกว่า 10,635 คน คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลแล้วกว่า 6,000 กิโลกรัม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 17,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สำหรับเป้าหมายในอนาคต ได้แก่ การส่งเสริมให้โรงเรียนฯ รวบรวมข้อมูล และเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS PROJECT) ขององค์การจัดการก๊าซเรือนกระจกหรือ อบก. ซึ่งจะให้ความรู้เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่เยาวชนต่อไป”
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 โดยใช้ชื่อว่า โครงการโซลาร์ปันสุข ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทนในภาคเกษตรกรรม ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และต่อยอดองค์ความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชน โดยมูลนิธิใบไม้ปันสุข ร่วมกับ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ พันธมิตรผู้คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีการศึกษาเฟ้นหาโรงเรียนที่มีผลงานด้านการเกษตรและการพัฒนาชุมชนรอบข้าง เพื่อสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขนาดเล็ก พร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร โดยหวังยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนและสังคมไทย และเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 13 Climate Action และเป้าหมายที่ 7 Affordable and Clean Energy
นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา กล่าวว่า ชีวิตของชาวชนบทโดยเฉพาะในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญมักจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ขาดโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ซึ่งความเป็นจริงชาวบ้านเหล่านี้พร้อมที่จะร่วมในขบวนการเพิ่มคุณภาพชีวิต และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
โรงเรียนมีชัยพัฒนาจึงได้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างโอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเอาโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับคนในชุมชนรอบโรงเรียน โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากที่จำเป็นต้องดูแลหลานเนื่องจากพ่อแม่เด็กต้องอพยพไปหารายได้
นักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาซึ่งมีโอกาสเรียนรู้การปลูกผักและทำธุรกิจ ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุเหล่านี้ และหลาน โดยจะเดินทางไปใน 16 หมู่บ้านรอบ ๆโรงเรียนที่อยู่ในตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการรับใช้สังคม
ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กเป็นจำนวนมากได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนมีชัยพัฒนาดำเนินการขยายงานออกไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ และมีหลายโรงเรียนที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและเป็นตัวอย่างพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่น ๆ โดยอาศัยเงินกู้ที่ได้จัดตั้งขึ้นมาพร้อมทั้งนักเรียน และได้เริ่มอบรมผู้สูงอายุในการเพาะปลูกแบบทันสมัยที่มีผลตอบแทนสูงในโครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุ เป็นการพัฒนาหมู่บ้านโดยผ่านโรงเรียนในด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
และในช่วงปลายปี 2565 โครงการโซลาร์ปันสุข ที่ร่วมกับมูลนิธิใบไม้ปันสุขและพันธมิตร จะเริ่มอบรมให้กับนักเรียน ได้เริ่มเรียนรู้ และเข้าใจ เรื่องโซล่าเซลล์ขั้นพื้นฐาน และจะดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในบ้าน และในการปลูกผักโดยคาดหวังว่านักเรียนจะเป็นผู้แนะนำเรื่องการใช้โซลาร์เซลล์ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนได้เป็นลำดับต่อไป
ภายในงานแถลงข่าว “5 ปี มูลนิธิใบไม้ปันสุข” ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารของบางจากฯ ทุ่งสักอาศรม เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC และมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “4 ประสาน ขับเคลื่อน 3 โครงการเพื่อความยั่งยืน” พร้อมขยายองค์ความรู้เรื่องการอ่านเขียนของเยาวชน Circular Economy และนวัตกรรมทางการศึกษาและพลังงานอีกด้วย และด้วยความมุ่งมั่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การแถลงข่าวครั้งนี้ จัดเป็น carbon neutral event มีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการจัดการประชุมด้วยคาร์บอนเครดิตจากโครงการกิจกรรมชดเชยคาร์บอนขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่ากัน ทำให้ถือว่ามีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
สำหรับผู้สนใจสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิใบไม้ปันสุขเพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม สามารถสนับสนุนผ่านการดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ “พี่ใบไม้-น้องปันสุข” https://line.me/S/sticker/20778064 การบริจาคคะแนนบัตรสมาชิกบางจากผ่าน “ตะกร้าบุญ” ในแอปบางจาก และ “กล่องปันสุข” รับบริจาคในร้านอินทนิล โดยมีแผนเริ่มวางกล่องปันสุขรับบริจาคที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลขวดนมจากร้านอินทนิล จำนวน 200 สาขาในเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชนด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ที่เฟซบุ๊กมูลนิธิฯ https://www.facebook.com/baimaipunsook
ที่มา: บางจาก คอร์ปอเรชั่น