“กับดักริ้นดูดเลือด สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ” เข้าประกวดรับรางวัลการวิจัย ปี 2566
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เพื่อขอรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 19 – 20 กันยายน 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์บรรลือ กรมาทิตย์สุข แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล และ ด.ช.กันดิศ กรมาทิตย์สุข จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด
รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์บรรลือ กรมาทิตย์สุข แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D-printing technology) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่อาศัยการสร้างวัตถุสามมิติหรือชิ้นงานจากไฟล์ต้นแบบดิจิทัล โดยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวาง ทั้งในกระบวนการออกแบบและการผลิต ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน หุ่นยนต์ และการแพทย์ ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ความสามารถของเครื่องพิมพ์ (3D printer) และซอฟต์แวร์การออกแบบและการพิมพ์ อีกทั้งเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติยังเป็นเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น (customizable) สูง ทำให้ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ได้หลากหลายด้านเพิ่มขึ้น และด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติรุ่นใหม่ มีราคาถูกลง ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถติดตั้งและใช้งานได้โดยสะดวก ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้ง่ายขึ้น พิมพ์หรือสร้างชิ้นงานจากไฟล์ต้นแบบดิจิตอลได้เอง ตามจำนวนที่ต้องการในทุกพื้นที่ และแม้กระทั่งการนำไปใช้เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์หรือชิ้นงานที่จำเป็นหรือขาดแคลน
ทีมผู้ประดิษฐ์จึงได้มีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาใช้ ในการสร้างกับดักแมลงชนิดที่ใช้แสงเป็นตัวดึงดูด โดยเฉพาะสำหรับการดักจับริ้นดูดเลือด (culicoides) เนื่องจากริ้นดูดเลือดเป็นแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญ มีขนาดเล็กที่สุดในโลก (1-3 มิลลิเมตร) วิธีการดักจับทำได้ยาก การออกแบบกับดักแมลงต้องมีลักษณะเฉพาะตัว อีกทั้งยังไม่เคยมีรายงานการสร้างกับดักริ้นดูดเลือดด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติมาก่อน จุดประสงค์ของการประดิษฐ์ คือ การสร้างกับดักแมลง (ริ้นดูดเลือด) ชนิดที่ใช้แสงเป็นตัวดึงดูดที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเฝ้าระวังและติดตามทางระบาดวิทยาของโรคที่มีแมลงเป็นพาหะในมนุษย์และสัตว์
ทั้งนี้ กิจกรรม “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ประจำปีงบประมาณ 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่19 – 20 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤกษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช. 1 และบริเวณโถง ชั้น 1 อาคาร วช. 4 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการจำนวนกว่า 140 ผลงาน จาก 9 สาขาวิชาการ ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย สาขาปรัชญา สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ สาขาการศึกษา และสาขาสังคมวิทยา โดยเป็นผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงสถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมประกวด จำนวนกว่า 30 แห่ง ตัวอย่างผลงานเข้าร่วมจัดแสดงฯ อาทิ ต้นแบบแก้วแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานสะอาด,เครื่องวัดและควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง,เซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดสารบ่งชี้มะเร็ง เป็นต้น
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ