ม.มหิดล บูรณาการทฤษฎีระบบการเรียนรู้โดยใช้สมอง และเทคโนโลยีการศึกษาที่ทันสมัย ฝึก “เรียนรู้เชิงรุก” ก่อน “เรียนรู้เชิงลึก”
สมัยก่อนผู้ที่จะมาประกอบวิชาชีพครู จะต้องมีวุฒิครูเพื่อรับรองทักษะการสอน แต่ปัจจุบันเพียงเท่านั้นยังไม่พอ หากต้องถึงพร้อมด้วยความรู้ที่บูรณาการจากศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21
สำหรับอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์แล้ว อาจารย์ส่วนใหญ่มักจะไม่มีโอกาสในการศึกษาวิชาครู หรือ “ศาสตร์การสอน” ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่ไม่บรรลุผลลัพธ์การศึกษาเท่าที่ควร
รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มบูรณาการทฤษฎีระบบการเรียนรู้โดยใช้สมอง และเทคโนโลยีการศึกษาที่ทันสมัยเข้าด้วยกัน เพื่ออบรมครูให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21
จากประสบการณ์สอนนักศึกษาแพทย์ที่ผ่านมา 36 ปี รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ได้ค้นพบว่าการใช้สมองและประสาทสัมผัส ผนวกกับเทคโนโลยีในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยพัฒนาอุปนิสัยใฝ่รู้ให้กับผู้เรียน และช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบ”Active learning” หรือการ “เรียนรู้เชิงรุก”
เทคนิคที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการอบรมเพื่อการพัฒนาครูยุคใหม่ ซึ่งมักใช้ในการสอนนักศึกษาแพทย์ คือ การใช้หลักการการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-Based Learning) การศึกษาเน้นผลลัพธ์ (Outcome-Based Education) และ “Micromastery” ที่จะคิดการใหญ่ต้องฝ่าฟันสิ่งท้าทายทีละน้อย แล้วมาร้อยเรียงกัน
ตัวอย่างเช่น การมุ่งสู่การเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่งให้ได้ จะต้องฝึกทักษะการเรียนรู้ทางศัลยกรรมเบื้องต้น ตั้งแต่วิธีการทำความสะอาดให้ปลอดเชื้อ การหยิบจับ และการใช้เครื่องมือผ่าตัด การเย็บแผล ฯลฯ ฝึกการใช้สมอง และใช้มือในงานย่อยๆ ให้ชำนาญ แล้วมาร้อยเรียงกันเป็นงานใหญ่ประกอบกับการ “เรียนรู้เชิงรุก” ก่อน “เรียนรู้เชิงลึก” แล้วจึงค่อยเรียนรู้ถึงวิธีการผ่าตัดขั้นสูงต่อไป
ที่ผ่านมา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ได้ร่วมกับ กองบริหารการศึกษาและกองทรัพยากรบุคคล สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมติดอาวุธทักษะการ “เรียนรู้เชิงรุก” จากการบูรณาการทฤษฎีระบบการเรียนรู้โดยใช้สมอง และเทคโนโลยีการศึกษาที่ทันสมัยให้กับอาจารย์ใหม่
โดยจัดมาแล้ว 7 รุ่นสำหรับอาจารย์ใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็นชาวไทย และจะจัดอบรมเป็นภาษาอังกฤษสำหรับอาจารย์ใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็นชาวต่างประเทศในเดือนมกราคม 2566 นี้
เป้าหมายเพื่อให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University Professional Standards Framework : MUPSF) ที่เป็นไปตามมาตรฐานของการพัฒนาผู้สอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร (United Kingdom Professional Standards Framework (UKPSF)) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก และ รองศาสตราจารย์ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ได้ผ่านระดับ Senior Fellow ของ UKPSF แล้ว
ผู้เรียนจะมีการเรียนรู้และพัฒนาการไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับผู้สอนอนาคตของชาติไม่อาจพ้นจุดอ่อนทางการศึกษาไปได้ หากไม่ ได้ฝึก”เรียนรู้เชิงรุก” ก่อน “เรียนรู้เชิงลึก” เพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล