วิศวะมหิดล ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ตอบโจทย์ Green University พร้อมเดินหน้าวิจัย ไมโคร อินเวอร์เตอร์ อัจฉริยะ

วิศวะมหิดล ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ตอบโจทย์ Green University พร้อมเดินหน้าวิจัย ไมโคร อินเวอร์เตอร์ อัจฉริยะ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) ชูธงนำพลังงานทางเลือกจาก “พลังงานแสงอาทิตย์”(Solar Energy) มาใช้ภายในการดำเนินงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ Green University เสริมสร้างความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เผยช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้มหาวิทยาลัยปีละหลายล้านบาท เป็นแหล่งเรียนรู้การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อความยั่งยืนแก่เยาวชนและชุมชน เดินหน้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Invertor) ต้นแบบอัจฉริยะประสิทธิภาพสูงเพื่อนำไปสู่การผลิตในประเทศให้คนไทยได้ใช้แพร่หลายในอนาคต

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกของเราขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงาน โดยพลังงานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า น้ำมันดิบจะหมดไปจากโลก และอีก 22 ปีถัดไป ก๊าซธรรมชาติก็จะหมดไปจากโลกเช่นกัน เรากำลังก้าวสู่ยุคแห่ง พลังงานทางเลือก หรือ พลังงานทดแทน โดย “พลังงานแสงอาทิตย์”(Solar Energy) เป็นพลังงานสะอาดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกนำมาใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากฟอสซิลนั้น นับเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพมาก ไม่มีวันหมด และเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืน ยิ่งใช้ยิ่งดี ทั้งสะอาด ไร้มลพิษ ประหยัดและได้เงินคืน เปลี่ยนรูปพลังงานเป็นพลังเงินได้ พลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นพลังงานทางเลือกที่มาเป็นอันดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นต้นทางของการลดปัญหามลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการหลักที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะเรือนกระจก หรือ ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรงขึ้นทุกปี

ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับเป็น Green University อันดับ 1 ของประเทศไทย 5 ปีซ้อน โดยสถาบัน UI Green Metric World University Ranking  ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าของ Green University อย่างต่อเนื่อง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีแนวคิดในการนำ “โซลาร์เซลล์” (Solar Cell) เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า โดยเริ่มเก็บข้อมูลการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทำการศึกษาวิเคราะห์เรื่องมุมรับแดด การเลือกชนิดและขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ และระบบการติดตั้งพร้อมการดูแลรักษา โดย 2 ปี ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ “ชุดทดลอง” ขนาด 15 กิโลวัตต์พีค (KWp) ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดค่าไฟได้กว่าหมื่นบาทต่อเดือนในช่วงที่แสงแดดดี และในอีก 3 เดือนข้างหน้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนงานที่จะขยายการติดแผงโซลาเซลล์ให้เป็นวงกว้างมากขึ้น โดยจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอีกไม่ต่ำกว่า 230 กิโลวัตต์พีค (KWp) ด้วยใช้เงินลงทุนกว่า 4 ล้านบาท จากการคำนวณจะสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 18-20 เปอร์เซ็นต์ เดือนละประมาณกว่า 180,000 -200,000 บาท (ณ ราคาต่อหน่วยไฟฟ้าในปัจจุบันแบบ TOU) นอกจากนี้ ระบบที่ติดตั้งใหม่เลือกเทคโนโลยีเป็นชุดแผงโซลาเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้การเชื่อมต่อแบบ ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Invertor) ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการรับพลังงานจากแสงเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าดียิ่งขึ้น 

อีกทั้งคณะฯ มีแผนในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีของ ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Invertor) ต้นแบบให้มีความอัจฉริยะ ประสิทธิภาพสูงขึ้นและปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การผลิตในประเทศในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และประชาชนสามารถเข้าถึงได้และใช้ทั่วประเทศ

หลักการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์ ร่วมกับไมโครอินเวอร์เตอร์ กระบวนการผลิตไฟฟ้าจะเกิดขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่มีพลังงานมากระทบกับ แผงโซลาร์เซลล์ ที่ทำขึ้นจากสารกึ่งตัวนำชนิดพิเศษมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ร่วมกับระบบโซล่าเซลล์ที่มีไมโครอินเวอร์เตอร์ที่มีอินเวอร์เตอร์ขนาดเล็กติดอยู่ด้านหลังของชุดแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้เกิดการการแปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) จากกลุ่มแผงโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ทันทีในการจ่ายเข้าอาคารบ้านเรือน โดยสามารถเชื่อมต่อไฟ AC เข้ากับไมโครอินเวอร์เตอร์ตัวอื่นๆได้ในแบบขนาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการแปลงพลังงานสูงขึ้น และมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางไฟฟ้าที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือกแก่เยาวชนและชุมชนสังคม อาทิ เมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม โดย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดี ได้จัด “โครงการเทคโนโลยีส่งเสริมพลังงานทดแทนกับการเรียนรู้สู่สถานศึกษาในอนาคต” ให้ความรู้และเสริมประสบการณ์แก่ครูและเยาวชน โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย 2 หลวงพ่อเงินอนุสรณ์ เรื่อง “พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์…สู่เทคโนโลยีพลังงานอนาคต” และเข้าเยี่ยมชมและศึกษาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อนและสร้างเสริมโลกที่ยั่งยืนน่าอยู่อีกด้วย

ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ