ม.มหิดล เตรียมโชว์ 18 ผลงานวิจัยเพื่อสังคม วิทยาเขตนครสวรรค์พร้อมนำทีมเข้าร่วมเสนอ 10 ผลงานคุณภาพในงาน MUSEF 2022 วันที่ 27 ก.ย.นี้

ม.มหิดล เตรียมโชว์ 18 ผลงานวิจัยเพื่อสังคม วิทยาเขตนครสวรรค์พร้อมนำทีมเข้าร่วมเสนอ 10 ผลงานคุณภาพในงาน MUSEF 2022 วันที่ 27 ก.ย.นี้

“ภารกิจเพื่อสังคม” เป็นดั่งคำสัญญาว่า “มหาวิทยาลัยจะไม่ทอดทิ้งชุมชน”

อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม” (MUSEF : Mahidol University Social Engagement Forum) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และขยายผลสู่ระดับนโยบาย (policy maker) ได้ต่อไปในอนาคต

ซึ่งในปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในวันอังคารที่ 27 กันยายน2565 ภายใต้ชื่องาน MUSEF 2022 “ชุมชนเมืองสุขภาพดี” (Healthy Together) โดยมีผลงานวิจัยเพื่อสังคมจากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเสนอผลงานในงานดังกล่าว

18 ผลงานวิจัยเพื่อสังคมจากส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเสนอผลงานในงาน MUSEF 2022 ได้แก่ ผลงานวิจัยเพื่อสังคมจากคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยการจัดการ (CMMU) สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว (NICFD) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดลและ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยเป็นผลงานวิจัยเพื่อสังคมจาก โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 10 ผลงาน ประกอบด้วยผลงานวิจัยเพื่อชุมชนทางด้านวัฒนธรรม สุขภาพเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุ และ การรับใช้ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยและวิทยาเขต ซึ่งนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ (poster presentation) จำนวน 9 ผลงาน และนำเสนอแบบปากเปล่า(oral presentation) จำนวน 1 ผลงาน

หนึ่งในผลงานวิจัยของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยด้านการรับใช้ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยและวิทยาเขต ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้แก่ “ทันตกรรมทันใจด้วยแอปพลิเคชันเขาทอง” โดยนางสาวพินณารักษ์ พันธุมาศ นักวิชาการเกษตร ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่ง “ทันตกรรมทันใจ” เป็นบริการส่วนหนึ่งใน “แอปพลิเคชันตำบลเขาทอง” ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตสังคมเมืองกึ่งชนบทของชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

ซึ่งเป็นที่ตั้งของ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤติ COVID-19 นอกจากเป็นการปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี ผ่าน LINE OFFICIAL

โดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อใช้ในการลงทะเบียนจองคิวเคลือบฟันฟลูออไรด์ สำหรับนักเรียนในชุมชน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนให้บุตรหลานเข้ารับบริการผ่าน”แอปพลิเคชันตำบลเขาทอง” โดยระบบจะมีการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อใกล้ถึงเวลานัดหมาย

นอกจากนี้ “แอปพลิเคชันตำบลเขาทอง” ยังได้รับการออกแบบเพื่อรองรับบริการเพื่อสุขภาพอื่นๆ อีกมากมายอาทิ คลินิกเบาหวาน คลินิกแพทย์แผนไทย การคำนวณหาดัชนีมวลกาย (BMI) การคำนวณการเผาผลาญพลังงาน(BMR) ตารางพลังงานในอาหาร การแจ้งเตือนทานยา การแจ้งเตือนออกกำลังกาย ฯลฯ

โดยนับเป็นการแสดงความเป็นปึกแผ่นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเครือข่ายชุมชน ที่พร้อมร่วมใจกันทำให้ “แอปพลิเคชันตำบลเขาทอง” ได้เป็นศูนย์รวมออนไลน์ที่ครอบคลุมครบวงจรมากที่สุดของชุมชน จนสามารถใช้เป็น “ต้นแบบ” สำหรับชุมชนอื่นๆ ต่อไปได้เป็นอย่างดี

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน MUSEF 2022 ที่จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 27 กันยายน 2565 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร และศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐมเพื่อร่วมชื่นชม 18 ผลงานวิจัยเพื่อชุมชนและสังคมคุณภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่Facebook : MUSEF Conference

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ