แชฟฟ์เลอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดโครงการแข่งขันด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

แชฟฟ์เลอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดโครงการแข่งขันด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาคธุรกิจยานยนต์ และอุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดโครงการการแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับ ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (the Future EV Mobility Creative Contest for Sustainability) สำหรับนิสิตนักศึกษา โดยจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

ภายใต้แนวคิด “พันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งงานดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี  โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความรู้ ความสามารถ และทักษะต่างๆ เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ นโยบายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แหล่งรวมนวัตกรรมและการพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้า

การแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว   (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทยที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน    อีกทั้งยังเป็นการจัดการแข่งขันเพื่อยกย่องความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมและการคมนาคมด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mobility) ของประเทศเยอรมนี รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบความคิดริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศของเยอรมนี (German International Climate Initiative) ด้วย

นายชัชวาล ส้มจีน กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็นสังคมปลอดมลพิษ ภายใต้นโยบาย 30/30 ซึ่งหมายความว่า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะเน้นไปที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 และด้วยสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคส่วนยานยนต์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะมากถึง 50% จึงทำให้ประเทศไทยซึ่งมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เหมาะสมและเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ชั้นนำในภูมิภาคนี้สามารถสร้างโอกาสให้กับเราอย่างมากมาย ในการพัฒนาโซลูชั่นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโตอย่างมีศักยภาพ”

นายพีระดิษฐ์ โชติภาสพุทธิ ผู้จัดการหน่วยธุรกิจระบบส่งกำลัง แผนกเทคโนโลยียานยนต์ บริษัท แชฟฟ์เลอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า  “ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนไปสู่อี-โมบิลิตี้อย่างแท้จริง ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ที่ดีระหว่างนิสิตนักศึกษาและคณะที่ปรึกษา รวมถึงการแสดงนวัตกรรมโซลูชั่นที่หลากหลายที่มีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมให้เติบโตเพิ่มขึ้น”    

โครงการนี้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดโดยใช้เกณฑ์การตัดสิน 3 หัวข้อหลัก คือ ความคิดสร้างสรรค์  ความเป็นไปได้ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าล่าสุด  และทีมที่ได้รับคัดเลือก 8 ทีม ทีมละ 3 คน เข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ชิงเงินรางวัลรวม 100,000 บาท เมื่อวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา  ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  

บ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสม

ปัจจุบันตลาดมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชาโดยเฉพาะในสายงานวิศวกรรมต่างๆ ดังนั้นการสร้างผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาภาคส่วนการคมนาคมด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง

นางสาวพัชมน ปัญโญสุข หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธุรกิจเครือข่ายยานยนต์ก่อให้เกิดความต้องการด้านทักษะและความสามารถในวงกว้างเป็นอย่างมาก และเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในโลกอุตสาหกรรมดังกล่าว แชฟฟ์เลอร์เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ถึงความสามารถของเราในการจัดหาเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อสร้างพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสม พร้อมด้วยทักษะที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมอย่างการแข่งขัน EV Hackathon ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้แชฟฟ์เลอร์สามารถบ่มเพาะและดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการบุกเบิกและสร้างสรรค์โซลูชันเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน”

โดยก่อนหน้านี้ บริษัทแชฟฟ์เลอร์ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยบูรพา ขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค (EEC Automation Park) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะและการปรับทักษะใหม่สำหรับวิศวกร คนทำงาน และผู้สำเร็จการศึกษาผ่านหลักสูตรโปรแกรมการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทางเทคนิคที่ดำเนินการที่ศูนย์การเรียนรู้ อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค ของมหาวิทยาลัยบูรพา นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการตรวจสอบสภาพตลับลูกปืนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของแชฟฟ์เลอร์ได้โดยตรง ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี  Smartcheck  และ OPTIME 

ที่มา: แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ