สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เปิดตัววิทยาลัยนานาชาติ (THAI-NICHI INTERNATIONAL COLLEGE : TNIC) มุ่งสู่การผลิตบัณฑิตที่มีความแตกต่างและให้พร้อมทำงานในระดับนานาชาติ
ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) ได้มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สถาบันฯ จึงได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความเป็นสากล ด้วยการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ (THAI-NICHI INTERNATIONAL COLLEGE : TNIC) อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งได้พัฒนาหลักสูตรที่เป็นความต้องการในระดับสากลเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสร้างบัณฑิตให้มีความแตกต่าง และพร้อมทำงานในระดับนานาชาติได้
วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (THAI-NICHI INTERNATIONAL COLLEGE : TNIC) จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นวิทยาลัยที่มีความเป็นสากลและเป็นวิถีใหม่ ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความเป็นสหวิทยาการ โดยออกแบบหลักสูตรที่รวมเอาจุดเด่นด้านบริหารธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ มาผสมผสานเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการเรียนการสอนของแต่ละสาขา เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้มีความรู้กว้างขวางและมีทักษะหลายด้าน พร้อมรองรับการขยายฐานการรับสมัครนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลก
อีกหนึ่งจุดเด่นหลักของวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) คือการมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานการศึกษาให้มีความเป็นสากล มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยการเรียนการสอน 3 ภาษา ในทุกหลักสูตรแห่งเดียวในประเทศไทย ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวัฒนธรรมญี่ปุ่นและชาติต่างๆ ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และไทยช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ รวมทั้งการเปิดรับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพในระดับสากล พร้อมทีมคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ปัจจุบันวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) เปิดสอนทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่
- สาขาวิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering : DGE) โดดเด่นทางด้านเมคคาทรอนิคส์ การผลิตระบบดิจิทัลและหุ่นยนต์ การใช้ประโยชน์ IOT มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อผลิตวิศวกรที่มีขีดความสามารถทำงานได้ในระดับสากล
- สาขาวิศวกรรมธุรกิจและนวัตกรรม (Business Engineering and Innovation : BEI) เป็นการผสมผสานด้านวิศวกรรมศาสตร์และการบริหารธุรกิจเพื่อการเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม
- สาขาธุรกิจระหว่างประเทศและการเป็นผู้ประกอบการ (International Business and Entrepreneurship : IBN) การบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ และการสร้างผู้ประกอบการในระดับสากล
- สาขาวิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data Science and Artificial Intelligence : DSA) การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data และการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจ ให้ก้าวทันโลกในยุคดิจิทัล
- สาขาภาษาญี่ปุ่นเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ (Japanese for International Business : JIB) เน้นภาษาญี่ปุ่นแบบเข้มข้นที่ใช้ในแวดวงธุรกิจระหว่างประเทศ
โดยในปัจจุบันมีนักศึกษาชาติต่างๆ เข้าเรียนที่วิทยาลัยนานาชาติ (TNIC) อาทิ ญี่ปุ่น, แอลจีเรีย, ภูฏาน, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ฝรั่งเศส, จีน และเยเมน เป็นต้น
นอกเหนือจากการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีและการฝึกภาคปฏิบัติ การฝึกงานและสหกิจศึกษากับองค์กรต่างๆ การทดลองเชิงปฏิบัติการ และการสัมมนา วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) ยังมีโครงการให้ทุนสนับสนุนแก่นักศึกษา โดยยกเว้นค่าหน่วยกิต 25 – 50 % ตลอดหลักสูตร รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น การฝึกงานและสหกิจศึกษา พร้อมทั้งมีโอกาสในการไปศึกษาต่อหรือทำงานในประเทศญี่ปุ่น อาเซียน และประเทศอื่นๆ
โดยในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรภาคเอกชน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด, บริษัท แอพพลิแคด จำกัด และ บริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมมือในโครงการต่างๆ ด้านการเรียนการสอน การส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานและสหกิจศึกษา รวมทั้งการฝึกอบรมและการบริการวิชาการร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความรู้ภาคทฤษฎีของอาจารย์ในสถาบันกับความรู้ภาคปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญในองค์กรเอกชน เพื่อนำมาถ่ายทอดให้นักศึกษาเตรียมความพร้อม และสามารถปฏิบัติงานจริงได้ทันทีที่จบการศึกษา ตอบโจทย์การผลิตบัณฑิตให้มีงานทำ 100%
แม้ว่าวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) เน้นความเป็นสากลมากขึ้น แต่ยังคงยึดหลักการ Monodzukuri ที่มุ่งสร้างบัณฑิตให้คิดเป็น ทำเป็น มุ่งมั่นอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการมีองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้บัณฑิตออกไปเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากเทคโนโลยี และพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล
ที่มา: สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น