“Life long learning” เพราะชีวิตไม่หยุดที่จะเรียนรู้
ครุศาสตร์ จุฬาฯ เผยแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต “Life long learning” เตรียมพัฒนาผู้เรียนสร้างมายเซท พร้อมรับกับความรู้ใหม่ๆ ที่เข้ามาทุกวัน
ในปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตในทางใดทางหนึ่ง การที่มนุษย์เราจะสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้นั้นจำเป็นที่จะต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เท่าทันด้วยการปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัยอยู่ต่อเนื่อง อย่าง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning)”
Life long learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต ? การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ? แนวทางการเรียนของคนยุคใหม่คืออะไรและที่ดีอย่างไร ไขทุกข้อสงสัยกับ ดร.กฤษพร อยู่สวัสดิ์ นิสิตปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผ่านงานวิจัยแนวทางในการส่งเสริมการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับนักเรียนประถมศึกษา ที่คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564
Life long learning คืออะไร ?
การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงกลายมาเป็นหลักการศึกษาในปัจจุบันที่นานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและได้จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ดังที่เห็นได้จากกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดหมุดหมายให้ทุกคนทุกช่วงวัยมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ สามารถพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดร.กฤษพร อธิบายว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ต่างๆ ผสมผสานกันอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิตของแต่ละคนตั้งแต่เกิดจนตาย (From birth to death or From the beginning until the end of life) ซึ่งโจทย์ในพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นมีเป้าหมายให้ผู้เรียน มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า “บุคคลแห่งการเรียนรู้” หรือ “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต”
ทำไมต้องเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ?
การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญต่อบุคคลทุกช่วงวัย ทุกยุค ทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันและอนาคตที่ดูเหมือนว่าความจำเป็นสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะทวีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วยให้คนสามารถดำเนินชีวิตได้ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อคนเราทั้งสิ้น ซึ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
“ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) ในความหมายทั่วไปหมายถึง ผู้ที่รับประสบการณ์เรียนรู้ทั้งที่เป็นแบบทางการ (Formal Learning) และไม่เป็นทางการหรือการเรียนรู้ตามอัธยาศัย (Informal Learning) เพื่อการมีชีวิตอยู่รอดและสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีความสุขตลอดช่วงชีวิตของแต่ละบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย” ดร.กฤษพร กล่าวถึง คุณลักษณะของผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1) ด้านเจตคติต่อการเรียนรู้
2) ด้านแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้
3) ด้านความสามารถในการเรียนรู้
4) ด้านทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
5) ด้านความสามารถในการสื่อสาร
ดร.กฤษพร กล่าวเสริมว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ในวิจัยนี้จึงพบว่า เด็กในชั้นประถมศึกษาเป็นช่วงวัยที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เกิดทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากที่สุด โดยเป็นช่วงวัยนี้แห่งการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายอารมณ์ สังคมและสติปัญญา และเป็นช่วงวัยแห่งการพัฒนาการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ที่ค่อนข้างเด่นชัด
“สำหรับเด็กประถมนับได้ว่าเป็นช่วงวัยที่เหมาะในการเตรียมความพร้อมให้มีนิสัยรักในการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาต่อในระดับสูง และการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการเรียนรู้ในช่วงวัยต่อๆ ไป”
แนวทางส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
จากงานวิจัย ดร.กฤษพร พบ 4 ตัวแปรที่ส่งผลต่อการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียนในชั้นประถมศึกษามากที่สุด คือ การมุ่งอนาคต รองลงมาได้แก่ การเห็นคุณค่าในตนเอง การรู้จักตนเอง และความเชื่ออำนาจในตน ตามลำดับ โดยในแต่ละตัวแปรมีแนวทางปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของบุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูและผู้ปกครองนักเรียน เพื่อร่วมกันช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
การส่งเสริมให้เป็น “ผู้มุ่งอนาคต”
– ผู้บริหารสถานศึกษา : สร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมการเรียนรู้และประสบการณ์ทางอาชีพ รวมถึงการแนะนแนว
– ครู : สร้างโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้เห็นได้สัมผัสและฝึกปฏิบัติจริง
– ผู้ปกครอง : ปลูกฝังความรับผิดชอบ ความมีวินัย และทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude) ต่อการเรียน การศึกษา การทำงานและความมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จในชีวิตในอนาคต
การส่งเสริมให้เป็น “ผู้เห็นคุณค่าในตนเอง”
– ผู้บริหารสถานศึกษา : ปลูกฝังจิตสำนึกรู้จักชื่นชมคนอื่นและเห็นคุณค่าในตนเอง พร้อมเปิดพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถอย่างหลากหลาย
– ครู : สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงความรู้ ความสามารถที่สนใจ มีความถนัดหรือมีความภูมิใจจากการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาต่าง ๆ
– ผู้ปกครอง : ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพหรือต่อยอดในด้านที่ผู้เรียนมีความถนัดและมีความสนใจ เพื่อให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในตนเอง
การส่งเสริมให้เป็น “ผู้รู้จักตนเอง”
– ผู้บริหารสถานศึกษา : พัฒนาระบบการแนะแนวของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การแนะแนวเป็นช่องทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและการรู้จักตนเองของผู้เรียน
– ครู : ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนมีทักษะหรือความสามารถในการวิเคราะห์ตนเอง (Self-Analysis) เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง รู้จักความต้องการของตนเอง รู้จักที่จะยอมรับตนเอง และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพของตน
– ผู้ปกครอง : สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อค้นพบตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเลือกทางเลือกในการเรียนรู้ การศึกษาและอาชีพที่สอดคล้องเหมาะสมกับตนเอง
การส่งเสริมให้เป็น “ผู้มีความเชื่ออำนาจในตน”
– ผู้บริหารสถานศึกษา : ส่งเสริมสนับสนุนให้นักผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีกระบวนการเกิดความตระหนักและการยอมรับว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการกระทำของผู้เรียนเอง
– ครู : จัดกิจกรรมถอดบทเรียนจากประสบการณ์การเรียนรู้และงานที่มอบหมายให้กับผู้เรียน เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการกระทำของผู้เรียนเอง
– ผู้ปกครอง : ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะและตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันโดยใช้เหตุผล
รูปแบบการเรียนรู้ในอนาคต
รูปแบบการศึกษาเรียนรู้แห่งอนาคตเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ซึ่งจะมุ้งเน้นพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner – Centered Learning Model) และต้องมาพร้อมกับการเรียนรู้ที่เอื้อต่อโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning for All)
“ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง เลือกแหล่งเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง การจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นแบบ Active Learning ซึ่งผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติมากกว่าการฟังผู้สอนเพียงอย่างเดียว (Learners must do more than just listen in order to learn) และผู้เรียนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการเรียนรู้” ดร.กฤษพร กล่าวทิ้งท้าย
ซึ่งในปัจจุบันผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาอย่างทั่วถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรูปแบบต่างๆ ที่มีบทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือบุคคลทั่วไปในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคตการเติบโตของเทคโนโลยีและการหลั่งไหลเข้ามาของข้อมูล จะทำให้คนยุคใหม่ต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ