ม.มหิดล ห่วงกลุ่มเสี่ยง “608” ติดเชื้อ COVID-19 ช่วงพีคส.ค. – ก.ย. พร้อมเคียงข้างประชาชนเตรียมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก
สถานการณ์ COVID-19 เดินทางผ่านระลอกแล้วระลอกเล่าจนคาดกันว่าในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงสุดในรอบปี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะเทคนิคการแพทย์ ประกาศพร้อมเคียงข้างประชาชนเตรียมสแตนด์บายพร้อมปฏิบัติการลงพื้นที่เชิงรุกตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ เพิ่มเติมบริการตรวจ RT-PCR และ ATK ให้ประชาชนทั่วไป
ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการพัฒนา Ecosystem สาขาเครื่องมือแพทย์(Medical Devices) โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย(Reinventing University) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์โดยเน้นการใช้ประโยชน์สู่ประชาชน และการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์เพื่อลดการนำเข้า โดยที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาเครื่องแพทย์ต่างๆ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เปิดให้บริการห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ อาทิ ชุด PPE และพัฒนาชุดตรวจ ATK ตลอดจนให้บริการประชาชนในการตรวจคัดกรอง ทั้งด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ชนิด Professional Use ทั้งในวันธรรมดา และวันหยุด
ตามที่คาดกันว่าในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 COVID-19 จะกลับมาระบาดจนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดในรอบปีนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยากล่าวว่า แม้ COVID-19 จะอยู่ในช่วงที่ระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่การตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR เป็นที่ยอมรับทั่วโลก สำหรับที่คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการตรวจ RT-PCR และ ATK ชนิด Professional Use ทราบผลได้ภายในวันที่ตรวจสำหรับวิธี RT-PCR และทราบผลภายใน 30 นาทีสำหรับการตรวจATK
พร้อมบันทึกรับรองผล ตรวจสอบได้ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ในรูปแบบของ Thailand Digital Health Pass ซึ่งได้รับการยอมรับในการเดินทางเข้า-ออกจากมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และจะมีการขยายวันและเวลาการให้บริการรวมทั้งได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการลงพื้นที่เชิงรุกต่อไป หากมีการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นในวงกว้าง
“แม้จะไม่ได้เดินทาง ประชาชนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรตรวจRT-PCR สลับกับ ATK เพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาด และการแพร่เชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง “608” ซึ่ง “60” หมายถึง ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีและ “8” หมายถึงผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ 1.ความดันโลหิตสูง 2.เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ 3.เบาหวาน4.ไตเรื้อรัง ผู้ป่วยฟอกไต และปลูกถ่ายไต 5.หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง 6.ตับแข็ง ตับอักเสบเรื้อรัง 7.ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ 8.อ้วน
รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการฉีดกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต หรืออย่างน้อยช่วยลดความรุนแรงของโรค” ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยากล่าว
ปัจจุบัน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการประชาชน ตรวจ RT-PCR และ ATK ชนิดProfessional Use ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์ เวลา09.00 – 12.00 น. ณ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาผู้ที่มีความประสงค์จะเข้ารับบริการ สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ LINE OFFICIAL :
@mumtcovidlab โทร. 098-7495238, 0-2441-4371 ต่อ2610
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล