TEPCoT 14 ศึกษาดูงาน ณ เพ ลา เพลิน จ.บุรีรัมย์ ยกระดับสมุนไพรไทย เจาะลึกองค์ความรู้กัญชา-กัญชงจากมุมมองสาธารณสุข สู่เชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
คณะผู้บริหารระดับสูง หลักสูตร Top Executive Program in Commerce and Trade หรือ (TEPCoT) รุ่นที่ 14 นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรภาคเอกชนกว่า 100 หน่วยงาน ร่วมเดินทางมาศึกษาดูงานที่ เพ ลา เพลิน จ.บุรีรัมย์ อุทยานการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอีสานกว่า 400 ไร่ พื้นที่แห่งการเรียนรู้ทุกศาสตร์แห่งชีวิต ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน วิถีเกษตร พันธุ์พืชและสมุนไพรไทย รวมถึงกัญชง และกัญชาทางการแพทย์ และศึกษาเรียนรู้โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Arokaya Wellness Sala ศูนย์สุขภาพองค์รวม ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดย นางพรทิพย์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด ร่วมต้อนรับ พร้อมด้วย นายศิวฤทธิ์ ศรีบุญเรือง ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานบุรีรัมย์ ร่วมแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ และสนับสนุนการขับเคลื่อนกระจายรายได้สู่ภาคชุมชน และ นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลคูเมือง ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Buriram Model” เพื่อให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องจากกัญชาทางการแพทย์ และกัญชงในเชิงอุตสาหกรรม
นางพรทิพย์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด เผยว่า “เพ ลา เพลิน บุรีรัมย์ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ ให้คนทุกเพศทุกวัย สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จากการเดินทางมาศึกษาดูงานของคณะผู้บริหารระดับสูงในโครงการครั้งนี้ ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคธุรกิจ ในการยกระดับสมุนไพรไทย และการขับเคลื่อนกัญชงสู่ภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยที่เพ ลา เพลิน พยายามเน้นย้ำการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วน การนำสมุนไพรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ข้อมูลควรรู้ทั้งคุณและโทษของพืชกัญชา กัญชงกับผู้เข้ามาศึกษาดูงาน เน้นความถูกต้อง และปลอดภัยในการนำไปใช้ เพื่อให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง”
จากจุดเริ่มต้นที่ทาง เพ ลา เพลินต้องการส่งเสริมสนับสนุนภาคการเกษตรของประเทศไทย สู่ภารกิจการยกระดับสมุนไพรไทย ด้วยการนำภูมิปัญญาไทยดั้งเดิม มาศึกษาและพัฒนาร่วมกับนวัตกรรมทันสมัยสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ อีกทั้งเพ ลา เพลิน ได้ร่วมสนับสนุน วิสาหกิจศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพ ลา เพลิน เพื่อชุมชน ในการเป็นแหล่งต้นน้ำปลูกกัญชาทางการแพทย์ ด้วยรูปแบบการปลูกระบบปิด หรือเกรดทางการแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลคูเมืองในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และต่อยอดสู่ปลูกกัญชา และกัญชงให้กับองค์การเภสัชกรรม และต่อยอดมาสู่กัญชงเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้กับภาคเอกชนในปัจจุบัน
รศ. ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า “ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเกษตรกรมีความยากจน เราสามารถใช้พื้นที่ 1 ไร่ในการสร้างพืชเศรษฐกิจให้มีมูลค่าเพิ่มสูงเป็นเรื่องที่ดี ศาสตร์พระราชาของรัชกาลที่ 9 ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ให้สูงสุด ดังนั้นการที่เราสนุบสนันพืชเศรษฐกิจให้มีมูลค่าเพิ่มสูงเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่ดีที่บุรีรัมย์เป็นเมืองต้นแบบกัญชา-กัญชง และการแปรรูปสินค้านี้ที่เป็นความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งการแพทย์และการสันทการเป็นการยกระดับรายได้ของประชาชน ลดความยากจน และความเลื่อมล้ำ”
“จากการฟังบรรยายของบุรีรัมย์โมเดล ซึ่งทำให้เห็นภาพ การต่อยอดในเชิงธุรกิจคืออะไร สำคัญอยู่ที่เราจะใช้กัญชาไปผลิตเพื่อทำอะไรตามความต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก รวมถึงการคัดสรรสายพันธุ์และการเพาะปลูก และที่สำคัญคือตลาดต้องมาก่อน ไม่ใช่เราสนับสนุนให้มีการปลูกอย่างเดียว ไม่ใช่ดูว่าการปลูกมันจะไปผลิตอะไร ดังนั้นเกษตรกรก็จะเจ็บตัวในท้ายที่สุด” รศ.ดร. ธนวรรธน์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: วิชั่น ออน