นิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ อนุรักษ์พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จัดนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” เสนอความเป็นไปได้ในชุมชน “ประชานฤมิตร”
นิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ บูรณาการความรู้ทำงานร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร ถนนสายไม้บางโพ จากโจทย์ปัญหาจริง นำเสนอความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพมหานครที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ต้องปรับตัวเองเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของเมืองและธุรกิจการค้าในโลกยุคใหม่ ประกอบกับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจการค้าซบเซา หนึ่งในนั้นคือชุมชนประชานฤมิตร ชุมชนเก่าแก่ย่านบางโพที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะแหล่งรวมผู้ประกอบการงานไม้มายาวนานมากกว่า 80 ปี ตลอดสองข้างทางในซอยประชานฤมิตรเป็นแหล่งรวมของร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้ งานตกแต่ง งานแกะสลักไม้ งานช่างและสารพัดงานไม้ที่ให้บริการครบวงจรในที่เดียว
โครงการ “ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565” เปิดโอกาสให้นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จากภาควิชาต่างๆ จำนวน 40 คนใช้เวลากว่า 1 เดือนในช่วงปิดเทอมลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ ออกแบบปรับปรุงแก้ไขปัญหา และลงมือสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับชาวชุมชนประชานฤมิตร มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันจนกลายเป็นนิทรรศการ “บางโ พซิเบิ้ล” หรือ “BANG PO(SSIBLE)” ซึ่งจัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้ นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ ตั้งแต่บัดนี้ – 30 กรกฎาคม 2565
กว่าจะเป็นนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
“ที่ผ่านมาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดกิจกรรมสำหรับนิสิตในช่วงปิดเทอมในรูปของกิจกรรมค่ายอาสาในพื้นที่ที่ห่างไกล โครงการ “ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565″ เป็นโครงการแรกที่นิสิตได้เข้าไปทำงานในชุมชนเมืองที่ประสบปัญหาชุมชนเริ่มเสื่อมโทรม ชุมชนมีแต่ผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ย้ายออก ซึ่งเป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองในปัจจุบัน” ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้
นิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” มีจุดเริ่มต้นมาจากชุมชนประชานฤมิตร บางโพติดต่อมาที่คณะฯ เนื่องจากธุรกิจงานไม้ของชุมชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ช่างฝีมืองานไม้ในชุมชนขาดคนรุ่นใหม่มาสืบทอด ในขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมๆ นอกจากนี้ชุมชนยังต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นรายล้อมชุมชน ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวว่า ชุมชนประชานฤมิตรตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีเตาปูนและสถานีบางโพธิ์ รวมทั้งไม่ไกลจากสถานีรถไฟสถานีกลางบางซื่อ จึงเพิ่มทางเลือกในการเดินทางมายังชุมชนได้สะดวกยิ่งขึ้น จากการพูดคุยกับชาวชุมชนประชานฤมิตร เห็นว่าศักยภาพของชุมชนจะต้องปรับเปลี่ยนจากการขายวัสดุงานไม้ไปสู่การออกแบบที่มีการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ลงนาม MOU ร่วมกับชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยช่วงเวลา 2 ปีแรกได้นำเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนนิสิตในคณะ และใช้เวลา 1 เดือนที่นิสิตปิดเทอม เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจัดโครงการ “ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565” ซึ่งเป็นการนำโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากชุมชนเมืองมาให้นิสิตร่วมกันคิด โดยนิสิตจากหลายหลักสูตรทั้งภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง สถาปัตยกรรมไทย การออกแบบอุตสาหกรรม ได้ทำงานร่วมกับชุมชน จัดทำข้อเสนอและเชิญชุมชนมาให้ข้อคิดเห็น จนเป็นนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” นิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” นำเสนอความเป็นไปได้ 3 เรื่อง ได้แก่
– ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงของบางโพ การเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของชุมชนถนนสายไม้บางโพจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างรวดเร็ว
– ความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านแนวทางข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชนประชานฤมิตรและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
– ความเป็นไปได้ของการสร้างความร่วมมือของชุมชนผ่านนิทรรศการ สร้างความร่วมมือและมีส่วนร่วมในระดับชุมชน และดำเนินการผลักดันการอนุรักษ์พัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องไปสู่การปฏิบัติ
อัตลักษณ์ของชุมชนประชานฤมิตร
ชุมชนประชานฤมิตรบนถนนสายไม้บางโพ มีการประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานไม้ที่ครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ เป็นการแปรรูปซุงเป็นวัตถุดิบสำหรับก่อสร้างบ้าน เช่น เสาไม้ แผ่นไม้ กลางน้ำ เป็นการนำไม้มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และปลายน้ำ มีช่างแกะสลักงานไม้ที่มากฝีมือ ระยะทาง 1 กิโลเมตรในซอยประชานฤมิตรเป็นแหล่งจำหน่ายงานไม้ที่ใหญ่ที่สุดลำดับต้นๆ ของประเทศไทย มีผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 149 ร้าน ผลิตภัณฑ์งานไม้ในชุมชนราคาไม่แพง ลูกค้ามีทุกระดับ
ความน่าสนใจของนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
พื้นที่ชั้นล่างของร้าน “สมเกียรติการช่าง” อาคารสองคูหาริมถนนในซอยประชานฤมิตรที่ถูกทิ้งร้าง เป็นสถานที่จัดนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” เนื้อหานิทรรศการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามขอบเขตของงานที่นิสิตรับผิดชอบ ได้แก่ กลุ่มปรับปรุงพื้นที่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกลุ่มสื่อประชาสัมพันธ์ แต่ละกลุ่มมีนิสิตจากหลายภาควิชาทำงานบูรณาการร่วมกัน เป็นโอกาสที่นิสิตได้เรียนรู้ข้ามศาสตร์ตามความสนใจ โดยมีชุมชนสนับสนุนพื้นที่การทำงาน ที่พัก ให้ความช่วยเหลือในการผลิตหุ่นจำลองและต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอในนิทรรศการ รวมทั้งจัดทำป้ายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มเติม นิทรรศการครั้งนี้นิสิตทั้งสามกลุ่ม ได้นำเสนอแนวคิดที่นิสิตเลือกตามความสนใจ พร้อมเสนอทางเลือกว่าชุมชนมีความชอบแบบใด
ข้อเสนอของนิสิตเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน
กลุ่มการปรับปรุงพื้นที่
– การปรับปรุงคลองซึ่งในอดีตใช้ในการขนส่งซุงเพื่อนำมาผลิตเป็นงานไม้ ปัจจุบันคลองเป็นที่ระบายน้ำ ไม่ได้ใช้งาน หากมีการปรับปรุงคลองให้สามารถสัญจรได้จะช่วยเปิดพื้นที่ทำให้คนกลุ่มใหม่ๆ ที่เดินทางจากรถไฟฟ้าสามารถเข้าถึงกลางชุมชนได้ง่าย ส่วนคลองบางโพขวางซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของชุมชน นิสิตเสนอให้คลองนี้เป็นคลองสหชุมชนสำหรับหลายชุมชนที่มีคลองผ่านมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
– ซอยประชานฤมิตร เป็นถนนวันเวย์ ซึ่งไม่สามารถจอดรถข้างทางได้ นิสิตได้เสนอให้ปรับปรุงถนนเพื่อให้สามารถเข้ามายังชุมชนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งปรับปรุงการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์งานไม้จากเดิมที่ต้องขับรถมาซื้อของที่โชว์หน้าร้าน เปลี่ยนเป็นมีโกดังกลางที่ลูกค้าสามารถดูสินค้าและสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ไปส่งถึงที่บ้าน
กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์
นิสิตได้สร้างสรรค์บานประตูรูปแบบใหม่ที่มีฟังก์ชั่นหมุนด้านบนแล้วทำให้ถาดเครื่องปรุงออกมาอยู่ด้านนอกได้ บานประตูมีที่ใช้เท้าเหยียบแล้วมีที่ยื่นออกมาเป็นที่วางจาน ส่งอาหารได้ นอกจากนี้ยังได้จัดทำหิ้งพระบูชารูปแบบใหม่ที่ติดตั้งอยู่มุมห้อง ช่วยประหยัดพื้นที่
กลุ่มการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์
นิสิตได้ออกแบบโลโก้ชุมชนประชานฤมิตรจำนวน 6 แบบให้คนในชุมชนเลือก รวมทั้งจัดทำมาสคอตเป็นที่แขวนม่านและราวลูกกรงไม้ ซึ่งเป็นไอเดียที่แปลกใหม่และน่าสนใจ
ความท้าทายในนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
ผศ.ดร.ปริญญ์กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่นิสิตกับช่างฝีมือในชุมชนจับมือทำงานร่วมกัน พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เกิดเป็นผลผลิตที่จับต้องได้ ชุมชนประชานฤมิตรเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีหลายเจเนอเรชั่น ความท้าทายอยู่ที่การทำให้คนจำนวนมากในชุมชนมาพูดคุยในเรื่องเดียวกัน เกิดความเห็นและผลักดันโครงการที่นิสิตนำเสนอต่อไป นอกจากนี้ข้อเสนอของนิสิตในการปรับปรุงในเชิงพื้นที่ไปสู่อนาคต ชุมชนไม่สามารถทำเองได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและกลุ่มที่ให้การสนับสนุน
“ความยั่งยืนต้องเกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่เริ่มแรก โดยชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโครงการขึ้นมา และสถาบันการศึกษาเข้าไปช่วยสนับสนุน นิทรรศการครั้งนี้จะทำให้คนในชุมชนได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และได้รับโอกาสอะไรบ้าง สำหรับบุคคลภายนอกชุมชนจะได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของเมือง ได้สัมผัสบรรยากาศของชุมชนประชานฤมิตรที่เป็นแหล่งรวมงานไม้ที่ครบวงจรที่เดียวในกรุงเทพฯ ในขณะที่เยาวชนที่มาชมนิทรรศการจะได้แรงบันดาลใจในการศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” จัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้ นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ ซอยประชานฤมิตร ตั้งแต่บัดนี้ – 30 กรกฎาคม 2565 วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 08.00 – 17.00 น. ทั้งนี้หลังจากจบนิทรรศการแล้ว มีโครงการจะนำนิทรรศการดังกล่าวมาจัดแสดงที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ต่อไป
ดุสิต วงษ์ล้วนงาม เลขาวิสาหกิจชุมชนประชานฤมิตร เผยว่า “แนวคิดที่นิสิตนำเสนอ เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ เป็นแนวคิดที่ชุมชนชื่นชม นิทรรศการนี้เหมาะสำหรับผู้สนใจงานสถาปัตยกรรม เฟอร์นิเจอร์ การออกแบบชุมชน การเดินทางมาชมนิทรรศการก็สะดวก มีรถไฟฟ้า 2 สาย สถานีบางโพ สถานีเตาปูน รวมทั้งรถโดยสาร”
กัณฐิกา พุฒิดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ถนนสายไม้บางโพ กล่าวว่า “ขอขอบคุณนิสิตและคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ทำให้เห็นว่าความร่วมมือร่วมใจกันทำให้เกิดพลัง นิสิตเก่งมาก สามารถจำลองให้เห็นภาพและแผนอนาคตที่เป็นไปได้ในการพัฒนา ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการครั้งนี้ผ่านทาง Facebook, Instagram, Youtube : Bangpho Wood Street”
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย