มบส.เร่งงาน U2T for BCG เพิ่มพื้นที่ 118 ตำบล 7 จังหวัด
มบส.เร่งขับเคลื่องาน U2T for BCG เพิ่มพื้นที่ 118 ตำบล 7 จังหวัด เน้นการทำงาน “จตุรภาคี” และมั่นใจโครงการนี้ผลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังจากโควิดได้
ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย เอกธรรมทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มบส.กำลังเร่งดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจBCG (U2T for BCG) ซึ่งในปี 2565 ทางมบส.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ให้ดูแลพื้นที่ชุมชนและจังหวัดเพิ่มขึ้นจากเดิมดูแลพื้นที่ชุมชน 40 ตำบล 3 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี เป็น 118 ตำบล 7 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานครสมุทรสาคร สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม นนทบุรี ราชบุรี และนครปฐม โดยได้รับงบประมาณ จำนวน53,458,000 บาท ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG ครั้งใหญ่ ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางมบส.ได้ ดำเนินโครงการฯ และเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการฯ ผลปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจมาสมัครจำนวนมากกว่า 1,500 คน จากที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 1,068 คน ซึ่งภาพรวมถือว่าเกินจำนวนรับ และเมื่อมาดูข้อมูลพบว่าบางตำบลก็มีคนสมัครเกินจำนวน ขณะที่บางตำบลผู้สมัครก็ยังมาไม่ครบ ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องมาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติและให้ได้จำนวนตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนการดำเนินงานในปีนี้จะเน้นการทำงานในรูปแบบของ “จตุรภาคี” คือ การทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน คือเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2565 ดังนั้นการทำงานครั้งนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน เราหวังว่าจะเกิดผลทางเศรษฐกิจโดยมหาวิทยาลัยจะต้องเข้าไปช่วยทำให้ตำบลที่รับผิดชอบสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ให้ได้ 2 ผลิตภัณฑ์/ตำบลดังนั้น 118 ตำบลก็จะต้องมี 236 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางอว.ก็จะมาช่วยทำ e-market หรือเป็นการต่อยอดการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเสร็จสิ้นโครงการผู้เข้าร่วมจะสามารถต่อยอดองค์ความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจ BCG โดยใช้องค์ความรู้ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เช่น ทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ต่อยอดให้แก่พื้นที่ชุมชน เพื่อมีรายได้ในครัวเรือนมากขึ้น
ผู้ช่วยอธิการบดี มบส. กล่าวอีกว่า การที่ อว. มอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดูแลพื้นที่ชุมชนและจังหวัดที่รับผิดชอบมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเราได้รับความไว้วางใจให้ทำงานร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งก็ตรงกับนโยบายของผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส.ที่เน้นย้ำมาตลอดให้มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับชุมชน และทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะทำงานนี้อย่างเต็มที่ โดยจะนำประสบการณ์จากปีที่แล้ว ที่ได้เรียนรู้ ถอดบทเรียน ได้ลองผิดลองถูกจนรู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถดำเนินการได้ก็จะนำมาปฎิบัติ และมั่นใจว่าเราสามารถทำได้ เพราะเมื่อปีที่แล้วเรามีเวลาทำโครงการนี้ 1 ปี และอยู่กับโควิดแถมพื้นที่ที่ดูแลรับผิดชอบอย่างสมุทรสาครยังเป็นพื้นที่สีแดงด้วย ซึ่งทำให้การทำงานก็ยากไปหมด แต่เราก็สามารถดำเนินงานได้จนประสบความสำเร็จ
“ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการแบบดาวกระจาย คือ การเข้าไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการ และยังได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการเขต ประธานแขวง ประธานชุมชนและผู้แทนชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 35 เขต เพื่อแจ้งให้ทราบถึงโครงการและแนวทางการดำเนินงานแล้วด้วย ดิฉันเชื่อว่าโครการนี้เป็นโครงการที่ดีจะสามารถผลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังจากโควิดได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ประจำ 3 เดือน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจได้รับการอบรมทักษะในการทำงาน ทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำเสนองาน การขายของออนไลน์ ดังนั้นจบโครงการทุกคนมีอาชีพเสริมแน่นอน สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการและผู้ที่พลาดโอกาสขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้รับทราบความเคลื่อนไหวของโครงการ และมหาวิทยาลัยยังมีโครงการดีๆที่เปิดรับสมัครให้ทุกคนได้ทำงาน”ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย กล่าว.
ที่มา: เอยู คอมมิวนิเคชั่น