ม.มหิดล คิดค้นโมเดลทางคณิตศาสตร์ เพื่อช่วยคาดการณ์ประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์โดยเสริมศักยภาพด้วยเทคโนโลยี AI
ในโลกยุคใหม่ “คอมพิวเตอร์” เปรียบเหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 ของร่างกาย โดยได้มีการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ (hardware) ซึ่งได้แก่อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาซอฟต์แวร์ (software) หรือโปรแกรมข้อมูลต่างๆ ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์
จนมาถึงยุค AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เช่นปัจจุบัน ที่คอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่จอมอนิเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ตั้งโต๊ะ แต่ได้พัฒนาสู่หลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในสำนักงาน ครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในทุกลมหายใจ และทำให้ “วิศวกรซอฟต์แวร์” (Software Engineer) กลายเป็นอาชีพที่สำคัญ จำเป็น และท้าทายในโลกยุคดิจิทัล
อาจารย์ ดร.มรกต เชิดเกียรติกุลอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ผู้คร่ำหวอด โดยได้ศึกษามาอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนในระดับปริญญาตรี และโทที่คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ต่อยอดศึกษาต่อระดับปริญญาเอกณ มหาวิทยาลัยวูลลองกอง(University of Wollongong ) ประเทศออสเตรเลีย ยกระดับสู่การวิจัยเพื่อการวางแผน ประเมิน และตรวจสอบกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า
ซึ่งการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า ไม่ได้สำคัญเพียงการใช้ทักษะในการเขียนโปรแกรม(Coding skill) แต่จะต้องผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มตั้งแต่การรับโจทย์มาวิเคราะห์ (Requirement Analysis) การออกแบบ (Design) การพัฒนา(Development) การทดสอบ (Testing) และการติดตามดูแล(Maintenance) รวมถึงการวางแผน (Project planning) และประเมินงาน (Effort estimation) ที่แม่นยำ
อาจารย์ ดร.มรกต เชิดเกียรติกุล ได้คิดค้นโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ใช้สนับสนุนการคำนวณเพื่อทำนาย ประเมินและตรวจสอบการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ โดยได้มีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำของโมเดล โดยมุ่งเน้นไปที่การคาดการณ์ความเสี่ยงในการเกิดความล่าช้าขึ้น ในโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ และประเมินประสิทธิภาพการส่งมอบงานในกระบวนการพัฒนาแบบ Agile
งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเอาโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งมาวิเคราะห์ดูทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ พบว่าโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ใช้มีความแม่นยำและสอดคล้องกับลักษณะการพัฒนาแบบ Agile ซึ่งเป็นกระบวนการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
อาจารย์ ดร.มรกต เชิดเกียรติกุล ให้ชื่อผลงานวิจัยดังกล่าวว่า “การพัฒนารูปแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการงานโครงการซอฟต์แวร์” โดยสามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ไปได้อย่างภาคภูมิ
ซึ่งผลที่ได้นอกจากโมเดลทางคณิตศาสตร์แล้ว ยังสามารถระบุคุณลักษณะที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น การมอบหมายงานที่ไม่เหมาะสมความคลาดเคลื่อนในการประเมินงาน และความซับซ้อนของชิ้นงาน
อาจารย์ ดร.มรกต เชิดเกียรติกุล ได้กล่าวทิ้งท้ายแสดงความห่วงใยถึงอุตสาหกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในประเทศไทยว่า ยังขาดแคลนวิศวกรซอฟต์แวร์ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในด้านนี้นอกจากนี้ ยังมองว่าการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ดีมีคุณภาพ นอกจากจะต้องสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้แล้ว จะต้องทำด้วยกระบวนการที่เป็นระบบ และต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ง่ายต่อการดูแล เพื่อให้สามารถส่งต่อนักพัฒนารายอื่นๆ ได้ต่อไป จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
โดยการวางระบบที่มีประสิทธิภาพ นอกจากการจะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์แล้ว ยังหมายถึงเวลา และค่าใช้จ่ายที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะสามารถขยายผลต่อยอดเพื่อสร้างคุณูปการต่ออุตสาหกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ได้ต่อไปอีกมากมาย
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล