วช. ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ชูโดรนแปรอักษร นวัตกรรมสุดล้ำ 1 เดียวในอาเซียน และ 1 ใน 9 ของโลก เร่งถ่ายทอดเทคนิคการบินโดรนแปรอักษร เพื่อประยุกต์ สู่การใช้งาน ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วช. ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ชูโดรนแปรอักษร นวัตกรรมสุดล้ำ 1 เดียวในอาเซียน และ 1 ใน 9 ของโลก เร่งถ่ายทอดเทคนิคการบินโดรนแปรอักษร เพื่อประยุกต์ สู่การใช้งาน ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน”ภาคกลาง ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8 – 10 กรกฎาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน (Drone) ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาคกลาง โดยเป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกทักษะ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ และมี การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน โดย สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรมฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกอนาคต จึงได้ให้การสนับสนุนการจัดการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาปรับใช้กับการทำงานในงานด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาให้เกิดการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับอากาศยานโดรน เพื่อสร้างนวัตกรในประเทศ ให้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้ เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวของเทคโนโลยี ด้านการบินในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ในการนี้สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรนในประเทศ ที่ประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ กล่าวได้ว่าเป็น”โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย และเป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวในอาเซียน และ 1 ใน 9 ของโลก ซึ่งเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ ได้ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ”โดรนแปรอักษร”และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกทักษะ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร”

โดยจัดการอบรมใน ภาคกลาง จำนวน 4 ครั้ง ที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดราชบุรี มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 25 โรงเรียน อบรมครั้งละ 50 คน รวมจำนวนผู้เข้าอบรมรวมทั้งสิ้น 200 คน ทั้งนี้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และแพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ปรับใช้เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งทางธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าระดับสากลอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ