สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ผนึกความร่วมมือไทย-สิงคโปร์ พัฒนาวิศวกรรมศาสตร์และบทบาทมหาวิทยาลัย

สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ผนึกความร่วมมือไทย-สิงคโปร์ พัฒนาวิศวกรรมศาสตร์และบทบาทมหาวิทยาลัย

สมาคมและสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย(สควท.) ซึ่งเป็นองค์กรนิติบุคคลที่มุ่งยกระดับและพัฒนาการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของไทยสู่มาตรฐานโลก นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานสมัยที่ 44 นำทีมสมาชิก สควท.จากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบทางวิศวกรรม นวัตกรรมหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีการฟื้นฟูสุขภาพบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ประเทศสิงคโปร์

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควท.) สมัยที่ 44 กล่าวว่า บทบาทของวิศวกรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและนวัตกรของประเทศไทย การวิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความเจริญก้าวหน้าบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน และคุณภาพชีวิตในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ การแพทย์ การผ่าตัดและรักษา การลดความเหลื่อมล้ำ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ เครื่องกลเครื่องจักรเพื่อสายการผลิตอัจฉริยะ เป็นต้น สมาชิก สควท.จากประเทศไทย ได้ร่วมประชุมหารือและศึกษาดูงานเทคโนโลยีในประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยและสิงคโปร์ก้าวสู่สังคมสูงวัยและเผชิญภาวะโรคระบาดหลายระลอก ดังนั้นการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพจึงมีความสำคัญต่อผู้ป่วยและผู้สูงวัย

สิงคโปร์ก่อตั้งสถาบันวิจัย RRIS หรือ Rehabilitation Research Institute Of Singapore ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University : NTU) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ที่ใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยจะทำงานวิจัยที่ได้รับโจทย์จากโรงพยาบาลในเครือของ NTU และนำผลมาทดลองใช้กับผู้ป่วยเกิดประโยชน์ได้จริง อาทิ หุ่นยนต์วีลแชร์อัจฉริยะ (Mobile Robotic Balance Assistant : MRBA) ซึ่งเป็นวีลแชร์ที่มีระบบอัจฉริยะ ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้สูงวัยสามารถควบคุมเส้นทางได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัยและแม่นยำ

ในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ได้มีการพบปะผู้บริหารและเยี่ยมชม NUS College of Design and Engineering (CDE) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore : NUS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชียและอันดับต้นๆ ของโลก ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยเป็น “มหาวิทยาลัยตลอดชีวิต” ที่จะดูแลประชากร ไม่เพียงแต่ในระดับปริญญาตรี 4 ปี และโท-เอก เท่านั้น แต่ยังช่วยดูแลและคอยอัพเดททักษะความรู้ให้ประชากรก้าวหน้าทันสมัยตลอดเวลา ทำให้ลูกค้าของมหาวิทยาลัยขยายออกไปอีกมาก เช่น นักศึกษาที่จบไปสามารถกลับเข้าไปเรียนเพิ่มทักษะได้ฟรี 2 โมดูล ภายใน 3 ปี ซึ่งก็จะทำให้ได้ลูกค้าใหม่ ที่เป็นลูกค้าเก่ากลับเข้าไปใช้บริการ หากผู้เรียนสะสมคอร์สให้เหมาะสมจนครบตามมาตรฐาน สามารถเปลี่ยนไปเป็นปริญญาได้ เช่น ปริญญาตรีใบใหม่ หรือ ปริญญาโทในสาขาต่างๆ อีกด้วย ภายใต้มาตรฐานที่สูงของสิงคโปร์ นับเป็นการยกระดับและปรับตัวทางการศึกษาครั้งใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ NUS ได้พัฒนาหุ่นยนต์ คล้ายสุนัขมี 4 ขา สามารถเคลื่อนที่และก้าวกระโดดได้คล่องแคล่ว เหมาะกับการใช้ในงานกู้ภัย ซึ่งสามารถวางระบบสั่งการในฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น สังเกตว่ามีคลื่นชีพจรอยู่ที่ไหน รวมถึงหุ่นยนต์ที่เป็นลักษณะแขนกลสามารถใช้หยิบสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรงกล่อง ทรงกลม ปรับทิศทางได้รอบด้าน โดยใช้ AI ในการเขียนโปรแกรมให้สามารถหยิบจับวัตถุได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสิงคโปร์สมาร์ทซิตี้ (Smart City) ซึงเป็นแนวโน้มของโลกในการทำให้เมืองน่าอยู่และบริหารจัดการเมืองด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งได้ศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจในย่านธุรกิจประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จะเห็นว่าสิงคโปร์มีแผนการปฏิรูปมหาวิทยาลัย โดยเน้นการสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงต่อผู้เรียนมากกว่าเกรด ผลิตคนหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน และเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มทำกันไปบ้างแล้ว  โดยมีหลักการสำคัญ เช่น

  1. Experiential Learning เปลี่ยนการเรียนรู้แบบทฤษฎีในห้องเรียน มาเป็นการเรียนรู้ฝึกฝนจากประสบการณ์ ผสมผสานการทำงานจริง แก้ปัญหาจริง เพราะความรู้เสาะหาได้ง่ายมากขึ้น มหาวิทยาลัยในอนาคตจะมีลักษณะเรียนไป ทำงานไป เป็นผู้ประกอบการไป
  2. Promote Digital Literacy คนรุ่นใหม่ต้องสามารถอยู่ในโลกยุคการค้าแห่งดิจิทัลได้ มีทักษะ การคิดเชิงคำนวณเพื่อวิเคราะห์-แก้ไขปัญหา (Computational Thinking) และมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science)
  3. Diversify Higher Education Pathways เพิ่มความหลากหลายของอุดมศึกษา เยาวชนสามารถเลือกเส้นทางตามความสนใจและความชอบของตน ให้รู้ว่าถนัดอะไร มีสายอาชีพให้เลือกหลากหลาย แนะนำเส้นทางต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก
  4. Encourage Lifelong Learning ยุคต่อไปคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และมหาวิทยาลัยต้องคอยติดตาม คอยตอบสนองว่าคนที่จบไปแล้วอยากกลับมาเรียนอะไร
  5. Broadening The Role of Universities การปรับตัวของมหาวิทยาลัย จะไม่เพียงแค่สอน-วิจัย ต้องเพิ่มเติมบทบาททางสังคมและเป็นฮับของการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มากขึ้น

ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ