เปิดมุมมอง “ครูพลังงานสะอาด” กับนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้สู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

เปิดมุมมอง “ครูพลังงานสะอาด” กับนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้สู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

ต้องยอมรับว่าในขณะนี้ ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานอย่างหนักหน่วง ทั้งน้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ที่ราคาถีบตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่ากังวล และยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การตระหนักถึงพลังงานที่ได้จากกระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้แบบไม่จำกัด ที่เรียกกันว่า “พลังงานสะอาด” เพื่อทดแทนพลังงานที่มีโอกาสหมดไปในอนาคต เป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก และสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พลังงานสะอาดกำลังจะเป็นพลังงานทางรอดของโลกใบนี้ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางรากฐานให้เด็กและเยาวชนไทยเกิดความตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) ด้วยการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะการสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนด้านพลังงานสะอาด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน “Clean Energy Teacher for Change ครูพลังงานสะอาดเพื่อการเปลี่ยนแปลง” มหกรรมสื่อการสอนเรื่องพลังงาน โชว์ไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงาน พร้อมเวทีเสวนา CET Talk นิทรรศการแสดงผลงาน คลังความรู้และบทเรียนออนไลน์ ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 ตอกย้ำแคมเปญ “Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” โดยมีกลุ่มครูที่เข้าร่วมโครงการฯ กว่า 100 คน จาก 50 ทีม เข้าร่วมสาธิตการใช้งานนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงานหลากหลายไอเดียสร้างสรรค์และน่าสนใจเป็นอย่างมาก

บนเวทีเสวนา CET Talk  ถอดบทเรียนและสะท้อนมุมมองการพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด โดยตัวแทนจากครูที่เข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด เริ่มจากครูปลา-นางวรรณนภา ธุววิทย์ และครูวิท-นายวิทวัส จำปาทอง จากทีม “Chem Science ปัทมโรจน์” โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง เจ้าของผลงานบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) เรื่อง ผจญภัยในดินแดนพลังงานสะอาด “มหัศจรรย์เอทานอลจากฟางข้าว สู่เซลล์เชื้อเพลิงอัจฉริยะ” การเรียนรู้แนวคิดและหลักการแปรรูปพลังงานในชุมชน ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปด้วยตนเอง สร้างความท้าทาย ทำให้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและมีความสุข

“สื่อที่เราพัฒนาสามารถนำไปใช้กับนักเรียนได้จริง ทั้งการเรียนการสอนรูปแบบ Online และ On-Site และได้เห็นผลสำเร็จของการใช้งานสื่อ เพราะนอกจากสื่อที่เราพัฒนาจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานสะอาด เรายังได้สอดแทรกเนื้อหาให้เข้ากับบทเรียน ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าวิชาเคมีก็เรียนแบบสนุก ๆ ได้ ไม่น่าเบื่อ และเรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถจับต้องได้ และที่สำคัญเด็ก ๆ จะรู้สึกอินกับบทเรียนในเวลาเรียนมากขึ้น ดิฉันจึงขอเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ ครูในการพูดว่า สื่อการเรียนรู้ทั้ง 50 ผลงานภายใต้โครงการฯ นี้ พวกเราได้ใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ โดยมีข้อดีตรงที่ว่า มีผู้ให้การสนับสนุนทั้งตัวความรู้ ทุนพัฒนาสื่อ นั่นทำให้พวกเรารู้ว่า เราไม่ได้เดินเพียงลำพัง ทำให้เรารู้ว่าในวงการศึกษามีคน มีครู มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลง อยากพัฒนาการเรียนการสอนของเราให้ดีขึ้น อยากที่จะทำให้เด็กเรียนด้วยความสุข สนุก และได้เรียนรู้อย่างยั่งยืน อันนี้คือสิ่งสำคัญที่พวกเราได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ นี้ค่ะ” ครูปลา กล่าวถึงบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน

“สื่อที่พวกเราพัฒนาขึ้นช่วยส่งเสริมผู้เรียนเกี่ยวกับการตระหนักรู้เรื่องพลังงาน (Energy Literacy) จากการที่นักเรียนได้เรียนรู้ ความเข้าใจ ทดลองใช้ และนำไปสู่ความตระหนักรู้ ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนนำองค์ความรู้ต่าง ๆ จากสื่อการเรียนการสอนนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง ทำให้นักเรียนตระหนัก ยิ่งในปัจจุบันนี้ น้ำมันขึ้นราคา ค่าไฟแพง ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ตอนแรกที่เราสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ก็คิดแค่ว่าจะได้สื่อและนำไปใช้ที่โรงเรียนของเราแล้วก็จบ แต่ตอนนี้เราได้เผยแพร่ผลงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ และนำสื่อไปผลิตเป็นบทเรียนออนไลน์สำหรับคุณครูที่สนใจทั่วประเทศ โดยมีโครงการฯ เป็นแม่ข่ายหลักในการสนับสนุน ถือว่าเกินความคาดหมายของผมจริง ๆ ครับ” ครูวิท กล่าวเสริม

มากันที่ ครูนัท-นายนัฐวุฒิ สลางสิงห์ ที่ฉายเดี่ยวเป็นตัวแทนทีม “Dark Energy” โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี เจ้าของผลงานบอร์ดเกม “Energy Hunter King : ราชานักล่าพลังงาน” สร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของพลังงานผ่านเรื่องราวในบอร์ดเกม ซึ่งผู้เล่นจะต้องเป็นตัวละคร หรืออยู่ในยุคที่เกิดการขาดแคลนพลังงาน จึงต้องทำภารกิจสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาดขึ้นมาให้ได้ เพื่อกอบกู้มวลมนุษยชาติ

“บอร์ดเกมที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นเหมือนการเปิดความเป็นไปได้ของการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ๆ ในห้องเรียน ได้เห็นความแตกต่างในการเรียนรู้ จากเดิมที่ใช้การบรรยาย พอเปลี่ยนเป็นบอร์ดเกม ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และร่วมกันถกถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข เกิดปฏิสัมพันธ์กัน มีทักษะ และสุดท้ายนักเรียนจะได้ความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาและจุดประสงค์ที่ต้องการ ซึ่งทำให้เกิดเจตคติที่ดีขึ้น และสิ่งที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดในเรื่องของการเรียนรู้ก็คือ ถ้าไม่มีความอยากรู้ หรือไม่มีความอยากที่จะไปต่อ การศึกษาก็แทบจะไม่มีความหมายเลย แต่พอบอร์ดเกมเข้าไปอยู่ในห้องเรียน ทำให้ห้องเรียนมีความหมายมากขึ้น นักเรียนจากที่ไม่อยากเรียนเลย พอได้มาเจอว่ามีเกมให้เล่น นักเรียนก็จะรู้สึกสนุก นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีความหมายมากขึ้นด้วย โครงการฯ นี้เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ ทำให้เราได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ หลากหลายไอเดีย รวม ๆ แล้วก็ 50 ผลงาน ลองคิดดูว่าถ้าไอเดียเหล่านี้ทำให้เกิดความตระหนักที่โรงเรียนของท่านได้ แล้วสามารถแชร์ต่อได้อีกเป็น 10 เป็น 100 โรงเรียน และนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ” ครูนัท กล่าว

ปิดท้ายกันที่คู่หูครูพลังงานสะอาด ครูปาร์ตี้-นางสาวเจษฎา ฤทธิ์ศรีบุญ และครูอาร์ต-นายปริวรรธน์ อุ่นวิเศษ จากทีม “สว่างแดนดิน” โรงเรียนสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร กับผลงานแอปพลิเคชัน เรื่อง “พลังงานชีวมวลในสกลนคร” สร้างการเรียนรู้การเปลี่ยนหิมะสีดำ หรือการเผาแกลบและฟางข้าวให้กลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในการผลิตพลังงาน

“หลังจากที่เรานำสื่อการเรียนรู้ไปทดลองใช้ในห้องเรียนแล้ว ได้รับฟีดแบ็กกลับมาดีมาก ๆ นักเรียนบอกว่าเหมือนกับเอาตัวละครที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาใส่ในโทรศัพท์ ใส่ในแอปพลิเคชัน ทำให้รู้สึกคุ้นเคยคุ้นชินกับตัวละคร อันนี้เป็นเพราะเราได้วิเคราะห์บริบทสิ่งแวดล้อมและภูมิศาสตร์ โดยได้วิทยากรจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาสอนเราทุกขั้นตอน เรียกว่าเริ่มต้นจากศูนย์กันเลยทีเดียว เพราะเราไม่ใช่ครูเทคโนโลยีที่จะมาทำแอปพลิเคชันเป็นสื่อการเรียนการสอน แต่เพราะโครงการฯ มอบโอกาสให้พวกเรา พอนำไปใช้ในห้องเรียน นักเรียนบอกว่า นอกเหนือจากการเปิดหนังสือเรียนอ่าน ยังได้โต้ตอบด้วย และอีกหนึ่งทักษะที่นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อแอปพลิเคชัน คือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งทักษะนี้สำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือเนื้อหาด้านใด ถ้าเด็กนักเรียนมีทักษะนี้ ก็จะสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกสื่อ และทุกเนื้อหาค่ะ” ครูปาร์ตี้ กล่าว

“นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา ทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น โดยเราใช้เนื้อหาที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคือ ชีวมวลในจังหวัดสกลนคร มาแสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นของเรามีอะไรบ้าง ได้เรียนรู้ แล้วทำความรู้ความเข้าใจ พอเขามีความรู้ความเข้าใจ มันก็จะนำไปสู่ความตระหนักในการเลือกใช้พลังงานให้คุ้มค่าที่สุด เลือกใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม เราอยากให้นักเรียนค่อย ๆ เรียนรู้ เขาจะได้เข้าใจว่าชีวมวลมีอะไรบ้าง เป็นยังไงบ้าง ซึ่งเมื่อเขาเข้าใจครบถ้วน เชื่อว่าความรู้สึก เจตคติของเขาจะเริ่มเปลี่ยน เราหวังว่าถ้านักเรียนเริ่มมีเจตคติที่ดีในเรื่องนี้แล้ว จะค่อย ๆ   ซึมซับ สะสม และเกิดการตระหนักรู้ต่อไป และขอขอบคุณวิทยากรและทีมงานของโครงการฯ ที่ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจจนพวกเราสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและนำไปในห้องเรียนได้ เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจมากเลยครับ” ครูอาร์ต กล่าวเสริมในตอนท้าย

เมื่อโลกเปลี่ยน ห้องเรียนก็ต้องปรับ..เสียงสะท้อนจาก “Clean Energy Teacher for Change ครูพลังงานสะอาดเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่ทุกทีมล้วนมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

ที่มา: PR Team

Tags :

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ