StemAktiv นวัตกรรมใหม่จากเภสัชจุฬาฯ กระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด ฟื้นฟูสุขภาพผิว
อาจารย์เภสัช จุฬาฯ เปิดตัว StemAktiv นวัตกรรมจากงานวิจัย เพื่อสูตรผสมสารสกัดสมุนไพรไทยกว่า 10 ชนิด กระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์ ส่งเสริมการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดของผิวหนังและเส้นผม
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) ก็เริ่มอ่อนล้า ทำงานได้ไม่เต็มร้อยดังเดิม ทำให้การทำงานของเซลล์ในเนื้อเยื่อ และลักษณะปรากฏของเนื้อเยื่อแสดงลักษณะของความเสื่อมสภาพของผิวหนังและเส้นผม การทำงานของผิวหนังในการปกป้องต่อต้านการแพ้ลดลง เส้นผมไม่แข็งแรง หลุดร่วงง่าย
แนวทางการฟื้นฟูสภาพผิวและชะลอวัย ทั้งในวงการวิจัยทางการแพทย์ การรักษาและเวชสำอางในสมัยใหม่ จึงให้ความสำคัญในการมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งมีการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากมนุษย์หรือสัตว์ฉีดเพื่อการปรับสภาพผิวโดยการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวอาจมีข้อควรกังวลทางด้านความปลอดภัย อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่สูง
แต่วันนี้ นักวิจัยไทยค้นพบวิธีการทีมีความปลอดภัยสูง ในการกระตุ้นสัญญาณเซลล์ต้นกำเนิด ผ่านนวัตกรรม StemAktiv อันเป็นการค้นพบการผสมผสาน สารสกัดจากสมุนไพรไทยหลายชนิด ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์ให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน คืนความแข็งแรงและอ่อนวัยให้สุขภาพผิว ผลงานจากงานวิจัยกว่า 10 ปี ของศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
StemAktiv นวัตกรรมสูตรสมุนไพรกระตุ้นการทำงานของ Stem Cell
ในฐานะนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องชีววิทยาของเซลล์ การส่งสัญญาณเซลล์ต่างๆ มายาวนาน ศ.ภก.ดร.ปิติ พยายามค้นหาวิธีการที่จะพัฒนาหาสารเพื่อนำมาทดแทนการฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปในผิวหนัง จึงได้ศึกษากลไกการกระตุ้นสเต็มเซลล์จากสารสกัดจากสมุนไพรในประเทศ ซึ่งมีการใช้และเป็นที่รู้จักกันมานานแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์และมีความปลอดภัยสูง
“เมื่อเราอายุมากขึ้น สเต็มเซลล์ยังคงอยู่ แต่สัญญาณภายในเซลล์ต่างๆ จะลดลงและอาจถูกปิดกั้น ส่งผลให้การทำงานของสเต็มเซลล์รวมทั้งเซลล์ต่างๆในเนื้อเยื่อที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสเต็มเซลล์นั้นลดลง การเพิ่มจำนวนเซลล์เพื่อทดแทนเซลล์เซลล์ที่สูญเสียไปก็ลดลง ดังนั้นการกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์ให้กลับมาทำงานได้ดีอีกครั้งจึงเป็นหนทางที่สำคัญที่อาจมีผลชะลอวัย” ศ.ภก.ดร.ปิติ อธิบาย
“มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าสมุนไพรหลายชนิดสามารถกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์ให้ดีขึ้นได้ แต่เป็นในลักษณะสารเดี่ยว ดังนั้น เราจึงวิจัยและพัฒนานำสารสกัดจากสมุนไพรกว่า 10 ชนิดมารวมกันเพื่อค้นหาสัดส่วนที่ดีที่สุด เพื่อให้สารสกัดเหล่านั้นเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน โดยมีการแบ่งเซลล์ต้นกำเนิดออกเป็นแต่ละชนิดเพื่อให้ได้สูตรที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเซลล์แต่ละชนิด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงได้ตรงจุดมากที่สุด และกระตุ้นให้สัญญาณภายในเซลล์ที่บ่งชี้ถึงการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดเพิ่มมากขึ้นในเซลล์ทดสอบ” ศ.ภก.ดร.ปิติ เผยถึงการวิจัยจนได้สูตรสารออกฤทธิ์กลไกใหม่ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ StemAktiv
จากการทดสอบสูตรสารสกัดสมุนไพรกับเซลล์ผิวหนังที่มีเซลล์ต้นกำเนิดผิวหนังอยู่ พบว่าสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการเสริมฤทธิ์ของสารผ่านกลไกอื่น ๆ ที่อาจะเป็นประโยชน์ ซึ่ง ศ.ภก.ดร.ปิติ ได้สรุปประสิทธิภาพสำคัญ 3 ประการของนวัตกรรม StemAktiv ดังนี้
- กระตุ้นสัญญาณของเซลล์ต้นกำเนิดที่เป็นองค์ประกอบของผิวหนังและเซลล์ต้นกำเนิดของเส้นผม
- กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสัญญาณการอยู่รอดของเซลล์
- กระตุ้นให้เซลล์เกิดกลไกการต้านทานพิษและการทำลายสิ่งตกค้างภายในเซลล์
“คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง มีองค์ความรู้ในเรื่องการออกฤทธิ์ของสารต่างๆ และคุณลักษณะคุณสมบัติของสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ที่นำมาเป็นองค์ประกอบของเครื่องสำอางเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ” ศ.ภก.ดร.ปิติ กล่าว
ศ.ภก.ดร.ปิติ กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จของการนำงานวิจัย “จากหิ้งสู่ห้าง” ว่า “ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท Chula PharTech ซึ่งเป็นบริษัท Spin-off ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การบ่มเพาะของ CU Innovation Hub ที่ช่วยในเรื่องวางแผนการตลาด รวมถึงการนำองค์ความรู้ที่นักวิจัยมีมาปรับแต่งให้นวัตกรรม StemAktiv ใช้ประโยชน์ได้จริง สิ่งนี้จะทำให้นักวิจัยมีกำลังใจในการพัฒนางานวิจัยเพื่อสังคมยิ่งขึ้นต่อไป”
ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ StemAktiv สามารถติดตามดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.cuphar.com และสามารถสั่งจองได้ที่ Line@ CUpharOnline Facebook : CUphar Online ในอนาคตสามารถหาซื้อได้ที่โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย