ม.มหิดล คืนรอยยิ้มให้ผู้ป่วยหลอดเลือดดำขอดไทยสร้างสรรค์นวัตกรรม “ถุงน่องทางการแพทย์” แนวใหม่
ไม่มีใครอยากถูกพันธนาการด้วยวัตถุใดๆ ก็ตามที่ทำให้ร่างกายรู้สึกอึดอัดทรมาน แม้แต่การสวมถุงน่องรัดๆ ในผู้ที่ต้องยืน หรือเดินนานๆ เพื่อลดอาการหลอดเลือดดำขอด
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ณัฐวุฒิ เสริมสาธนสวัสดิ์อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “หลอดเลือดดำขอด” เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดดำ นอกจากมักพบในที่ผู้ต้องยืนหรือเดินนานๆ แล้ว โดยพบมากในผู้สูงวัยซึ่งเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย
โดยปกติแล้ว เลือดจะไหลจากปลายขาขึ้นสู่หัวใจ แต่ในรายที่หลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ ทำให้เลือดดำไหลย้อนทางลงสู่ขา ทำให้ขาปวดเมื่อย ขาบวม เป็นตะคริวได้ ไปจนถึงในรายที่มีอาการรุนแรงซึ่งพบได้จากผิวหนังที่มีสีคล้ำ และผิวหนังแข็ง รวมถึงเป็นแผลหลอดเลือดดำที่รักษาได้ยาก
การรักษาประกอบไปด้วย การพันขา หรือ สวมถุงน่องรักษาหลอดเลือดดำ แต่ปัญหาที่พบ คือ ถุงน่องโดยทั่วไปใส่ยากไม่เหมาะกับผู้มีอาการหลอดเลือดดำขอดที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน
โดยผู้มีอาการหลอดเลือดดำขอดที่มีอาการไม่รุนแรง ควรใส่ถุงน่องที่มีแรงดัน 20 – 30 มิลลิเมตรปรอท ในขณะที่ในรายที่มีอาการรุนแรง ควรใส่ถุงน่องที่มีแรงดัน 30 – 40 มิลลิเมตรปรอท นอกจากนี้ถุงน่องที่ผลิตจากต่างประเทศมักมีราคาแพง และมีความหนา ไม่เหมาะกับประเทศไทยที่มีอากาศร้อน
จากประสบการณ์ตรงของ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ณัฐวุฒิ เสริมสาธนสวัสดิ์ ในการรักษาผู้ป่วยอาการหลอดเลือดดำขอดมาอย่างยาวนาน จนได้สร้างสรรค์นวัตกรรม”ถุงน่องทางการแพทย์” แนวใหม่ขึ้น ดำเนินการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล
จุดเด่นของนวัตกรรม คือ การใช้วัสดุที่ทำมาจากผ้าที่มีความยืดหยุ่น และประกอบด้วยเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งสามารถระบายความร้อนระหว่างการใส่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังออกแบบให้สามารถใส่และถอดได้ง่าย เพียงยึดตามแนวแถบ ไม่จำเป็นต้องสวมใส่ผ่านข้อเท้า ทำให้ผู้ป่วยใส่และถอดง่ายกว่าถุงน่องรักษาหลอดเลือดดำที่มีขายตามท้องตลาด
นอกจากนี้ “ถุงน่องทางการแพทย์” ที่คิดค้นขึ้นนี้ คาดว่าเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถจำหน่ายเป็นคู่ ในราคาคู่ละเพียง2,000 บาท หรือคิดเป็นข้างละเพียง 1,000 บาท โดยมีราคาที่ถูกกว่า “ถุงน่องทางการแพทย์” ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงประมาณ 8 เท่า โดยที่ต่างประเทศจำหน่ายเป็นข้าง ในราคาข้างละถึงประมาณ 8,000 บาท
แม้ยังจะต้องผ่านการทดสอบและปรับปรุงคุณภาพจนกว่าจะทำให้มั่นใจว่า ได้ “ถุงน่องทางการแพทย์” ที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยไทย แต่คงไม่นานเกินรอ หากจะทำให้ผู้ป่วยกลับมายิ้มได้ และสามารถบำบัดรักษาจนไร้พันธนาการได้ในที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล