รูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มในปัจจุบัน

รูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มในปัจจุบัน

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการหรือแนวทางการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน  ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed Method Research) ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ

โดยการวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับก่อนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 3,000 แห่ง และภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยการสนับสนุนสถานศึกษาทั้งในด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ (Hardware) แพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้ (Software) และบุคลากรสนับสนุนทางด้านการศึกษา (Peopleware) จำนวน 78 แห่ง ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการถอดบทเรียนสถานศึกษาที่มีแนวปฏิบัติที่ดีใน 4 ภูมิภาค ๆ ละ 2 แห่ง และในกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง รวมเป็น 10 แห่ง ร่วมกับการประชุมระดมความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรค และปัจจัยความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนของสถานศึกษา และการประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน สรุปเรียบเรียงและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยใช้การวิเคราะห์และเรียบเรียงเนื้อหา

ผลการศึกษาวิจัย พบรูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ (1) รูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนตามนโยบายรัฐบาล จากโครงการ CONNEXT ED  และ/หรือ Partnership School (2) รูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนจากพลังการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วนในระดับจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (3) รูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของสถานศึกษากับสมาคมศิษย์เก่าและสมาคมผู้ปกครอง (4) รูปแบบการมีส่วนร่วมจากการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาและสร้างกลยุทธ์การเติบโตของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการสนับสนุนการศึกษา

ในระดับพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบ และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาไปสู่รูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่พึ่งประสงค์ เพื่อประโยชน์ต่อการจัดบริการทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ และสิทธิประโยชน์เพื่อพัฒนาองค์กรของภาคเอกชนให้มั่นคงและยั่งยืน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) รูปแบบการมีส่วนร่วมจากพลังความเข้มแข็งของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Value : CSV) และ (2) รูปแบบการมีส่วนร่วมจากพลังความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ (Area-based Synergy : ABS) โดยมีกลไกการพัฒนาที่ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนและผู้ปกครอง เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และมีทักษะอาชีพที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สกศ. ผนึกเอกชนพัฒนาโมเดลเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ลงพื้นที่ไปยัง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมรวบรวมข้อมูลและมุ่งพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม  เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ได้ประสิทธิภาพ ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพและทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานและความเปลี่ยนแปลงของโลก

ติดตามได้ที่ Youtube Channel : https://www.youtube.com/watch?v=j6ZE-9wb2jQ

ที่มา: เวิลล์ ไอเดีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ