หยั่งอนาคตชาติ เข้าใจ “อัตลักษณ์ชาวดิจิทัลไทย”  จุฬาฯ คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีมาก จาก วช. ปี 2565

หยั่งอนาคตชาติ เข้าใจ “อัตลักษณ์ชาวดิจิทัลไทย” จุฬาฯ คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีมาก จาก วช. ปี 2565

นักวิจัยจุฬาฯ ระดมความร่วมมือนักวิจัยสหสาขาวิชา หาอัตลักษณ์และทัศนคติของชาวดิจิทัลไทย หวังลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม

“มนุษย์ป้า” ถ้อยคำที่อาจสะเทือนใจใครหลายคน แต่สำหรับรองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำสั้นๆ นี้ช่วยเปิดพื้นที่การสนทนาระหว่างอาจารย์กับนิสิตเมื่อ 3 ปีก่อน จนทำให้ได้ร่างความคิดยาว 3-4 หน้ากระดาษ อันเป็นที่มาของงานวิจัย “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรมและทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีมาก สาขาสังคมวิทยา ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

“ชาวดิจิทัลไทยคืออนาคตของชาติ พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นทั้งกำลังคน เป็นผู้กำหนดทิศทางการเมือง ระบบการศึกษา ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ชาวดิจิทัลไทยในปัจจุบันจะเป็นผู้ส่งผ่านแนวคิดและทัศนคติไปสู่คนรุ่นต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.จุลนี เผยถึงความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้

งานวิจัยชิ้นนี้ให้องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกระบวนการคิด ทัศนคติ พฤติกรรมของชาวดิจิทัลไทย ซึ่ง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยในเรื่องเช่นนี้ในประเทศไทยมาก่อน

“พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เข้าใจลูกหลาน นายจ้างจะได้เข้าใจลูกน้องมากยิ่งขึ้น ครู อาจารย์และสถาบันการศึกษาก็สามารถนำผลการวิจัยไปปรับรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากขึ้นด้วย” รศดร.จุลนี ยกตัวอย่างแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ในมิติต่างๆ ของสังคม

สหสาขาวิชาร่วมมือวิจัย เข้าใจชาวดิจิทัลไทย

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และอยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม “คนไทย 4.0” โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ผู้ร่วมวิจัยจากสาขาต่างๆ อาทิ รัฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ฯลฯ จากหลายสถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยนครพนม

กว่า 7 เดือน คณะผู้วิจัยลงภาคสนามทำวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรชาวดิจิทัลไทยวัย 13- 38 ปี ทั้งสิ้นจำนวน 910 คน อยู่ใน 3 พื้นที่ คือ 1) กรุงเทพมหานคร (เขตชั้นใน เขตชั้นกลาง และเขตชั้นนอก) ซึ่งเป็นตัวแทนเมืองหลวง 2) จังหวัดเชียงใหม่ในฐานะเมืองหลัก และ3) จังหวัดนครพนมในฐานะเมืองรอง นอกจากนี้ ยังสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับชาวดิจิทัล เพื่อให้ได้ข้อมูลความคิดเห็นที่หลากหลาย

“ชาวดิจิทัลไทยในงานวิจัยชิ้นนี้ถูกจัดอยู่ในเจน Y และเจน Z มีอยู่ด้วยกัน 5 กลุ่ม คือ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน และผู้ที่อยู่ในวัยทำงานตอนกลาง คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z อายุระหว่าง 7 – 25 ปี เป็นกลุ่มที่เกิดและเติบโตพร้อมกับเทคโนโลยี ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ทั้งการเรียน การทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกยุคดิจิทัลอย่างยิ่ง”

เป้าหมายหลักในการวิจัยคือการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลไทย ความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่จำเป็นในการเรียนการสอนและการทำงาน รวมถึงภาพอนาคต ความกลัว ความฝัน และความหวังในมุมมองของชาวดิจิทัลไทย ทั้งหมดนี้ผ่านกระบวนการวิจัยที่ใช้เทคนิควิธีหลากหลาย อาทิ แบบสอบถามสัมภาษณ์ (survey interview questionnaire) การรวบรวมคำศัพท์ (free-listing) การวาดภาพเชิงพรรณนา (pictorial ethnography) และการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structured interview) ประเภทการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) รวมไปถึงการวิจัยการสกัดและวิเคราะห์ข้อความออนไลน์ (online text extraction and analysis) จากทวิตเตอร์

“ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงและเข้าใจคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างชัดเจน อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของพวกเขาโดยผ่านการนิยามตนเอง ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลสะท้อนกลับต่อสังคมถึงสิ่งที่ชาวดิจิทัลเห็นว่าเป็นความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้ผู้ใหญ่ คนต่างวัย หรือแม้แต่ผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายได้รับรู้และเข้าใจว่าชาวดิจิทัลตีความหรือมีความคิดเห็นต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการดูแล พัฒนาและส่งเสริมการใช้ชีวิตให้กับคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหรือการทำงานก็ตาม”

อัตลักษณ์ชาวดิจิทัลไทย

การให้คำนิยาม “ชาวดิจิทัล” ที่พบเห็นกันโดยทั่วไปและในงานวิจัยในโลกตะวันตกนั้นมักยึดโยงกับช่วงอายุเป็นหลัก แต่ผลการวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นเพิ่มเติมว่า “ความเป็นชาวดิจิทัลไทย” ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับอายุที่เป็นเพียงตัวเลข

“เพราะแต่ละบุคคลมีทั้งความเป็นรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อยู่ในตัว” รศ.ดร.จุลนี กล่าวพร้อมสรุปคุณลักษณะสำคัญของชาวดิจิทัลไทย 3 ประการ ได้แก่

  1. เป็นผู้ที่เปิดรับความคิดเห็นคนอื่น ยอมรับความแตกต่าง ยินดีปรับเปลี่ยน ไม่ยึดติดกับรูปแบบความคิดของตัวเอง
  2. ใช้เทคโนโลยีเป็น ทั้งการทำงาน การพักผ่อน การติดต่อสื่อสาร ที่สำคัญคือ รู้เท่าทันเทคโนโลยี เช่น ไม่ ส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จ ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน (Fake News)
  3. มีไลฟ์สไตล์เป็นของตนเอง ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ เช่น ชาวดิจิทัลไทยห่วงใยดูแลสุขภาพ รู้จักการสร้างความสมดุลในการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) มักกลัวการตกกระแส ชอบติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลง มีความเข้าใจในการใช้ภาษาของวัยต่างๆ ในแต่ละกลุ่มคน

“วิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของชาวดิจิทัลไม่ยึดติดกับกรอบหรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คุณลักษณะเหล่านี้สามารถปรากฏได้ในประชากรทุกเพศทุกวัยเช่นกัน หรือที่เรียกได้ว่า Stay Young Forever นั่นเอง”

คุณลักษณะของชาวดิจิทัลไทยหลายประการมีความคล้ายคลึงกับชาวดิจิทัลในต่างประเทศ แต่ก็มีบางเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น ประเด็นการตัดสินใจที่มีความเป็นอิสระ การรักความสนุกสนาน และความรู้สึกผสมทั้งความมั่นใจและไม่มั่นใจในการแสดงออกทางสื่อ Social Media เป็นต้น

รศ.ดร.จุลนี อธิบายว่า “ชาวดิจิทัลทั้งในตะวันตกและไทยมีความรักในอิสรภาพ (freedom) แต่วิธีการตีความ “อิสรภาพ” หรือสถานการณ์อาจมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ชาวดิจิทัลไทยตีความ “อิสรภาพ” ว่าคือการทำและตัดสินใจได้อย่างอิสระ ซึ่งกลับกลายเป็นว่าการมีโทรศัพท์มือถือเป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเป็นอิสระ แต่ในขณะเดียวกันก็ริดรอนอิสระด้วย เพราะใช้มือถือในลักษณะที่เราเองต้องตกเป็นทาสหรือขาดสิ่งนี้ไม่ได้ เป็นต้น”

อีกหนึ่งคุณลักษณะเด่นของชาวดิจิทัลไทยคือการแสดงอารมณ์ขันหรือความตลกปนการล้อเลียน ที่ผสมกลมกลืนกับเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนจริง (ออนไลน์) นอกจากนี้ ยังมีลักษณะความมั่นใจที่ปะปนกับความไม่มั่นใจในตัวเอง

“ในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างชาวดิจิทัลไทยชอบ selfie โพสต์รูปตัวเอง โพสต์สิ่งต่างๆ เพื่อแสดงความ โดดเด่นแตกต่าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากที่จะแตกต่าง กลัวตกกระแส ซึ่งแสดงว่ามีความมั่นใจที่ซ่อนความไม่มั่นใจเอาไว้อยู่ เป็นต้น”

เทคโนโลยี สื่อกลางเติมช่องว่างระหว่างวัย

ในบริบทสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ ประชากรสูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ช่องว่างระหว่างวัยก็ดูจะถ่างและห่างขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าชาวดิจิทัลไทยยังให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ในครอบครัว และเห็นช่องทางการลดช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวด้วยเทคโนโลยี

“สถาบันครอบครัวมีบทบาทสูงมากในสังคมไทย ชาวดิจิทัลไทยยังคงยึดโยงกับครอบครัว ซึ่งปัจจุบันเชื่อมกันได้ด้วยเทคโนโลยี ชาวดิจิทัลไทยสามารถสอนให้ผู้ใหญ่และผู้สูงวัยในครอบครัวใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและสอนให้ใช้การสื่อสารผ่านสื่อสมัยใหม่ เช่น Facebook หรือ LINE ที่จะเป็นช่องทางเชื่อมต่อคนระหว่างวัยและสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว”

วิถีชาวดิจิทัลกับทิศทางการกำหนดนโยบายสู่อนาคต

ผลงานวิจัยเรื่องนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าตั้งแต่ระดับครอบครัว องค์กรภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงการวางแผนเชิงนโยบายระดับประเทศ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาเรียนรู้

“วิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นชาวดิจิทัล ได้แก่ การเรียนรู้ที่ควบคู่กับการปฏิบัติ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เรียนรู้นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับการใช้ชีวิตในมิติต่างๆ ได้อย่างไร” รศ.ดร.จุลนี กล่าว

ชาวดิจิทัลไม่ยึดติดกับการเรียนในสถาบันการศึกษาอย่างที่เคยเป็นมา พื้นที่ของการเรียนรู้ชาวดิจิทัลขยายขอบเขตครอบคลุมทั้งพื้นที่ทางกายภาพเดิมและพื้นที่บนโลกออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนั้นมีผลต่อทักษะ วิธีคิด ตลอดจนพฤติกรรมของพวกเขา

“วิถีชีวิตของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่นั้นรวดเร็ว การรับรู้ข่าวสารสามารถทำได้มากกว่าหนึ่งทางในเวลาเดียวกัน การทำให้สั้นและกระชับเป็นสิ่งชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ต้องการ สำหรับชาวดิจิทัล ครูไม่ใช่ผู้ให้ความรู้หรือศูนย์กลางของข้อมูลอีกต่อไป แต่เป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการใช้สื่อการสอนรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดของผู้เรียนเป็นหลัก” รศ.ดร.จุลนี กล่าวในที่สุด

จากชาวดิจิทัลไทย ปัจจุบัน รศ.ดร.จุลนี กำลังศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทยใน 3 อุตสาหกรรมหลัก: การวิเคราะห์ผ่านแผนที่เส้นทางการก้าวเข้าสู่แรงงานอาชีวศึกษาไทย ภายใต้แนวคิดความปกติใหม่” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มองคุณค่า จุดเด่น และเอกลักษณ์ของอาชีวศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ที่ยังไม่ค่อยมีใครนำมาเผยแพร่ให้คนในสังคมทั่วไปได้มองเห็นหรือรับรู้มากนัก

ผู้สนใจสามารถติดตามผลการวิจัยเรื่อง “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรมและทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” เพิ่มเติมในรูปแบบ E-book ได้ที่เว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0 https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=77

สามารถรับชมผลงานสื่อภาพยนตร์สั้นที่สร้างจากผลการศึกษาบางส่วนของงานวิจัยได้ที่ https://www.khonthai4-0.net/academies_knowledge_video_detail.php?id=5&sub_category_id=32&content_id=45
หรือดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่
https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=328

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ